ถ้าทักษิณไปวอชิงตัน ตรวจสภาพอากาศก่อน เพราะงานนี้หนาวแน่

ฝรั่งที่ปรึกษาของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่คิดค่าบริการแพงหนักหนา แนะนำให้แกไปวอชิงตันทำไม ไม่รู้...ที่แน่ๆ คือถ้าคุณทักษิณ ไม่คิดให้รอบคอบ

 มองในแง่ของคนที่เชียร์ให้ไป อาจจะเห็นเป็นข่าวดีที่คุณทักษิณ ชินวัตร จะไปสหรัฐ ตามคำเชิญของกลุ่มวิชาการและการเมืองเพื่อตอบคำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทย

 เพราะข่าวบอกว่ากระทรวงการต่างประเทศไทย ก็ได้รับเชิญให้ส่งตัวแทนไปแจกแจงประเด็นเดียวกันนี้ เพื่อเขาจะได้รับฟังความจากทุกฝ่าย

 ส่วนคุณทักษิณจะไปอเมริกาด้วยวีซ่าอะไร ไปแล้วรัฐบาลสหรัฐจะได้รับคำร้องขอ จากรัฐบาลไทยให้ส่งตัวกลับไทย ตามข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน ระหว่างสองประเทศนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

 เรื่องแรกกับเรื่องที่สองจะเกี่ยวกันอย่างไร ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ ให้กับวงการการเมืองไทย และระหว่างประเทศอีกรอบหนึ่ง 

 แต่ผมก็อยากจะเชื่อถ้าคุณทักษิณว่า ไปให้การกับนักการเมืองและนักวิชาการมะกัน ที่ต้องการจะหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่อง “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ในไทย ก็ควรจะเป็นเรื่องที่ดีได้เหมือนกัน

 เพราะเขาก็คงจะต้องถามทั้งเรื่อง “มีคนตายที่ราชประสงค์” ในเหตุการณ์ช่วงเมษายน และพฤษภาคม ของปีนี้ และเขาก็ต้องถามคุณทักษิณ ถึงข้อกล่าวหาที่ว่าสมัยเป็นนายกฯ นั้น มีคนตายที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายพันคนเหมือนกัน

 จะสอบสวนกันทั้งทีต้องซักกันตรงๆ และถามกันให้รอบด้านจึงจะไม่เสียชื่อกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า

 Commission on Security and Cooperation in Europe หรืออาจจะเรียกเป็นภาษาไทยว่าเป็น “คณะกรรมาธิการว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป”

 และรู้จักกันในชื่อที่เรียกง่ายๆ ว่า the US Helsinki Commission

 ซึ่งเป็นหน่วยงาน “อิสระ” ที่ตั้งโดยกฎหมายของสหรัฐ เมื่อปี 1976 เพื่อติดตามและส่งเสริมให้ทำตามมาตรการต่างๆ ที่ระบุในกฎหมาย Helsinki Final Act

 ซึ่งทำทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงและรวมไปถึงเรื่องคอร์รัปชัน สิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ และทุกประเด็นที่จะยกขึ้นมาศึกษาและหาข้อมูลเพื่อกระจายข่าว และสร้างความตื่นตัวในประเด็นต่างๆ เหล่านี้

 ที่ทำให้ CSCE มีความน่าสนใจก็ตรงที่ตามกฎหมายระบุว่า คนที่มาเป็นคณะกรรมาธิการนั้นจะต้องมาจากสภาสูง 9 คน (จากเสียงข้างมาก 5 คน) และสภาล่าง 9 คน (จากเสียงข้างมาก 5 คนเช่นกัน)

 อีกทั้งยังมีตัวแทนจากฝ่ายบริหารที่มาจากกระทรวงต่างประเทศ กลาโหม และพาณิชย์ด้วย

 เขาระบุว่า CSCE มีภารกิจหลักคือการส่งเสริม “ความมั่นคงในหลากหลายรูแบบ” ด้วยการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทางทหารของทั้งหมด 56 ประเทศ

 และเฝ้าติดตามว่าได้ทำตามข้อผูกพันของ Organization for Security and Cooperation in Europe (OSCE) ซึ่งเป็นองค์กรหลัก “ตัวแม่” สำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงในยุโรป

 ประธานคนปัจจุบันคือวุฒิสมาชิก เบนจามิน คาร์ดิน (แมรีแลนด์) และประธานร่วมคือสมาชิกสภาผู้แทนฯ แอลซี เฮสติ้ง (จากฟลอริดา)

 แม้ว่าชื่อจะบอกโต้งๆ ว่าเกี่ยวกับยุโรป แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ว่าประเด็นความมั่นคงและสิทธิมนุษยชนจะเกิดที่ไหน ถ้าเขาเห็นว่าน่าสนใจที่จะขอข้อมูล และจัดให้มีการถกแถลงกัน ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องรวมถึงนักวิชาการ เขาก็จะจัดให้มีการพบปะกัน

 ที่ผ่านมานักวิชาการไทยบางท่านก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมการสัมมนาในลักษณะนี้มาแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

 ที่เป็นข่าวร้อนขึ้นมาวันนี้ก็เพราะคุณนพดล ปัทมะ บอกนักข่าวว่าคุณทักษิณ ตกลงรับคำเชิญของ CSCE ไปกรุงวอชิงตันวันที่ 16 ธันวาคมนี้ เพื่อไปร่วมการซักถามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

 ข่าวบอกว่าเอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตัน ก็ได้รับเชิญไปร่วมในการตอบคำถามเรื่องนี้ด้วย

 คุณทักษิณไม่ได้อยู่ในประเทศไทยช่วงเหตุการณ์เดือนเมษายน และพฤษภาคมปีนี้ ดังนั้น ถ้าหากมีการซักไซ้ประเด็นรายละเอียดเรื่องนี้ เขาก็คงจะตอบได้ไม่ต่างไปจากคนไทยคนอื่นๆ

 ยกเว้นเสียแต่ว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้จะซักถามคุณทักษิณ ว่าอยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่ถึงขั้นเผาบ้านเผาเมืองหรือเปล่า?

 และถ้ามีการถามไถ่ต่อเนื่อง ถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็หนีไม่พ้นว่าคุณทักษิณจะกลายเป็น “จำเลย” ที่ต้องตอบข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นนายกฯ ในสมัยที่เกิดเรื่องมิใช่หรือ?

 ยิ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นใกล้ๆ กับที่ไทยยอมส่งวิคเตอร์ บูท ไปให้อเมริกา ก็อาจจะถูกมองว่ามีเรื่อง “ต่างตอบแทน” ระหว่างสองประเทศหรือเปล่า

 อย่างนี้ต้องเรียกว่า “งานเข้า”...แต่จะเป็นงานเข้าสำหรับรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ หรือของคุณทักษิณ ก็จะได้รู้กัน

 ถ้าคุณทักษิณ ไม่เปลี่ยนใจเสียก่อน... เพราะใครไปวอชิงตันช่วงนี้จะรู้ว่า “หนาว” แน่ (ตรวจอุณหภูมิที่นั่นเมื่อคืน...ลบ 3 องศาทีเดียวครับ)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์