ศาลอาญา 1 ธ.ค.- “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ขึ้นศาลเบิกความคดี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ฟ้องหมิ่น “จตุพร พรหมพันธุ์” ยืนยัน นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งฆ่าประชาชน แค่กระชับพื้นที่ ไม่ให้ใช้ความรุนแรง และถูกทุบรถต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากกระทรวงมหาดไทย
ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. วันนี้
ศาลได้สืบพยานโจทก์คดีดำ อ.1962/2552 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อชาติเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
กรณีเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 52 จำเลยได้ปราศรัย ด้วยเครื่องกระจายเสียง ต่อหน้าประชาชนจำนวนกว่า 10,000 คน บริเวณวัดไผ่เขียว ย่านสายไหม
หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ทำนองว่า โจทก์เป็นคนออกคำสั่งให้ทหารยิงประชาชน เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน ใส่ร้ายประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงเหตุเกิดที่แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. จึงนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 52 ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญามาตรา326 , 328 , 332
“สุเทพ” เบิกความ ยันนายกฯ ไม่ได้สั่งฆ่าประชาชน
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เข้าเบิกความสรุปว่า ช่วงระหว่างการประชุม อาเซียน ซัมมิท ที่พัทยา
ได้ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงบุกเข้าไปขัดขวางการประชุม ทำให้โจทก์ต้องประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และคุ้มครองผู้นำต่างประเทศ ให้เดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย ภายหลังโจทก์ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ได้นั่งรถยนต์เบนซ์ สีดำ ออกจากกระทรวงมหาไทย แต่ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงบุกรุกและปิดล้อมทุบรถ
“ขอยืนยันว่า โจทก์อยู่ภายในรถคันดังกล่าวจริง ไม่ได้มีการเปลี่ยนรถ เนื่องจากพยานได้นั่งอยู่ในช่วงเกิดเหตุด้วย จนกระทั่งสามารถหลบหนีออกมาได้” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ ยังเบิกความด้วยว่า โจทก์ก็ไม่ได้สั่งฆ่าประชาชน ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ภายหลังที่โจทก์ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว
ได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้อาวุธ และใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมต้องบาดเจ็บล้มตาย และให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่ง คณะกรรมการ ศอฉ. ก็ได้ปฏิบัติตามนโยบายของโจทก์อย่างเคร่งครัด
“นอกจากนี้ ช่วงสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ก็ไม่ได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเลย แต่เป็นการกระชับพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่ปิดกั้นเส้นทางโดยรอบ บริเวณที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกัน เพื่อเป็นการตัดเส้นทางลำเลียงอาหาร และไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งแกนนำคนเสื้อแดงยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นายสุเทพ กล่าว
จากนั้น พยานเบิกความเรื่องอื่นจนแล้วเสร็จ ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไป วันที่ 2 ธ.ค. นี้ เวลา 09.00น. .- สำนักข่าวไทย