เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. (ฝ่ายสอบสวน) เรียกประชุมพนักงานสอบสวน บก.น.1 , บก.น.5 และบก.น.6 เรื่องการสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งกลับ บช.น. ครั้งที่ 3/2553
โดย พล.ต.ต.อำนวยกล่าวก่อนการประชุมว่า สำหรับคดีนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา (สบ10) เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน และมี พล.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้ช่วย โดยตนเป็นหนึ่งในคณะ ซึ่งที่ประชุมเป็นสำนวนการชันสูตรพลิกศพ ไม่ใช่คดีหลัก หรือคดีอาญา ที่จะกล่าวหาว่าใครผิด ใครถูก ข้อหาหลักอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะตั้งแต่เมื่อครั้งการชุมนุมที่ผ่านมาที่มีผู้เสียชีวิต และเหตุระเบิด โดยดีเอสไอได้รับผิดชอบเพราะได้ยกฐานะเป็นคดีพิเศษ ซึ่งในส่วนของความตายที่เกิดขึ้น กฎหมายกำหนดว่าให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เป็นผู้ทำสำนวนชันสูตรศพ ซึ่งในส่วนนี้คือ การชันสูตรศพ ก็จะพิสูจน์ว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร แต่ไม่ใช่ชี้ว่าใครผิด ใครถูกอย่างไร เพราะใครผิด ถูกอย่างไรเป็นคดีอาญา
ซึ่งคดีอาญาหลักก็ต้องเอาสำนวนนี้ไปรวมด้วย โดยคดีนี้ 89 ศพ หรือ 91 ศพทั่วประเทศ แต่ในนครบาล 89 ศพนั้น ทางดีเอสไอก็ดำเนินการอยู่ ซึ่งมี 13 ศพ ที่ดีเอสไอเห็นว่าไม่สมบูรณ์การกระทำเกี่ยวข้องกับฝ่ายใด จึงส่งสำนวนนี้คืนให้พนักงานสอบสวน บช.น. สอบสวนเพิ่มเติม ว่าเป็นคดีที่เกิดจากไอ้โม่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ เมื่อรับสำนวนนี้มาก็ทำเพิ่มเติม โดย พล.ต.อ.เอก เป็นหัวหน้าคณะ การทำเพิ่มเติมก็ให้ท้องที่สอบ ตรวจพิสูจน์เพิ่มเติม แต่หากชัดไปทางใดทางหนึ่ง คือ ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะส่งคืนไปรวมกับคดีหลักที่ดีเอสไอทันที แต่หากคดีใดมีหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการตาย ขั้นตอนจะแตกต่างคือ ส่งสำนวนนั้นไปไต่สวนที่ศาลก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งก็จะเอาสำนวนไปให้ดีเอสไอ ต่างกันตรงนี้ ซึ่งการไต่สวนที่ศาลก็ไม่ได้พิพากษาว่าใครผิด ใครถูก แต่ศาลจะดูว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร จากนั้นจึงเอาความเห็นศาลไปรวมกับคดีอาญาหลัก ซึ่งต่างกันระหว่างคดีชันสูตรพิเศษกับธรรมดา
พล.ต.ต.อำนวยกล่าวต่อว่า การสอบสวนในกรณีนี้ กฎหมายใหม่ ป.วิอาญา มาตรา 55/1 ก็ให้อัยการมาร่วมสอบสวนด้วย
ซึ่งคงเป็นสัปดาห์หน้า หลังจากตนดูเนื้อสำนวนไปแล้ว ซึ่งก็จะทำอย่างละเอียดรอบคอบรัดกุม โดยรับประกันได้ว่าเมื่อมีการสอบสวนหลายฝ่ายคือ อัยการ พนักงานสอบสวนคือตำรวจ ดีเอสไอ เพราะฉะนั้นคดีต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน คดีปรากฏอย่างไรต้องเป็นตามนั้น แต่ปัญหาในการทำสำนวนเรื่องนี้ ตนเคยพูดผ่านทางโทรทัศน์ไปแล้วว่า คดีนี้มันยากกว่าคดีทั่วไปตรงที่พนักงานสอบสวนไม่สามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ ไม่ได้ซักคดี เพราะศพถูกเคลื่อนย้ายไปบ้าง ที่เกิดเหตุไม่ชัดเจนบ้าง บางครั้งเอาศพมาเรียงกันบ้าง ซึ่งผู้ตาย ตายตรงไหน อย่างไรก็ลำบาก จึงขอเรียนว่าในการทำสำนวนที่เกิดเหตุเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ยกตัวอย่างเช่น คดียิงพ่อค้าที่พุทธมณฑลสาย 2 หากไม่ได้จากที่เกิดเหตุก็จับไม่ได้ แต่นี้ได้ทั้งยวง ทั้งผู้ใช้จ้างวาน จับถึงพระมาสึก ซึ่งบ่ายนี้จะแถลงข่าว แต่คดีชันสูตรพวกนี้ลำบากที่ไม่สามารถเข้าที่เกิดเหตุได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำ แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อพิสูจน์
ถามว่าดีเอสไอส่งกลับคืนมาให้ชันสูตรกี่ศพ รอง ผบช.น. กล่าวว่า 13 ศพ โดยมีคดีนักข่าวญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย เมื่อถามว่าคดีที่วัดปทุมวนารามรวมด้วยหรือไม่ รอง ผบช.น. กล่าวตัดบทว่า รายละเอียดขอไปว่ากันทีหลัง ขอดูสำนวนก่อน