กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่อนหนังสือค้านประกันตัว"จตุพร" ด้าน ธาริต ย้ำสะสาง 89 ศพ ทำตามขั้นตอน
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวภายหลังนายวิเชียร ขาวขำ ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีก่อการร้าย เดินทางเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ว่า นายวิเชียรได้ขอปรึกษาเรื่องการควบคุมตัวภายหลังเข้ามอบตัวในคดีดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เลื่อนการเข้าพบเพราะมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งสำนวนคดีก่อการร้ายของนายวิเชียรนั้นพนักงานสอบสวนเตรียมสรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการแล้ว แต่เนื่องจากที่ผ่านมานายวิเชียร ซึ่งใช้เอกสิทธิ์ความเป็นส.ส. ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่ได้ก่อเหตุความวุ่นวาย ดังนั้น ในขั้นตอนการยื่นสำนวนฟ้องต่ออัยการซึ่งนายวิเชียรต้องเดินทางไปรายงานตัวด้วยนั้น ดีเอสไอจะไม่คัดค้านการขอประกันตัว รวมถึงระหว่างนี้ดีเอสไอจะไม่ขอใช้อำนาจในการควบคุมตัวนายวิเชียรด้วย
นายธาริต กล่าวต่อว่า ในส่วนของนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย
ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย และใช้เอกสิทธิ์ส.ส.ในการขอประกันตัวชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ แต่สมัยประชุมสภาจะปิดในวันที่ 28 พ.ย.นั้น แม้บุคคลทั้ง 2 จะใช้ตำแหน่งความเป็นส.ส.ขอประกันตัวชั่วคราวออกไป แต่ดีเอสไอยึดการพิจารณาเรื่องการคัดค้านประกันตัวเป็นรายบุคคล โดยในส่วนของนายการุณ เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ดังนั้นดีเอสไอจะไม่คัดค้านการขอประกันตัวชั่วคราว แต่ในกรณีของนายจตุพร ก่อนหน้านี้นายเมธี อมรวุฒิกุล พยานในความคุ้มครองของดีเอสไอได้ร้องว่าถูกนายจตุพรข่มขู่ ทำให้ดีเอสไอต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ดีเอสไอได้ทำหนังสือแจ้งถึงสำนักงานอัยการเพื่อขอคัดค้านการประกันตัวนายจตุพรกับศาลในช่วงการปิดสมัยประชุมสภา
นายธาริต ยังกล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุมกรณีเม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.)
แถลงข่าวตั้งข้อสังเกตการสืบสวนสอบสวนคดีผู้เสียชีวิตทั้ง 89 ศพ ของดีเอสไอว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอนนั้น ขอยืนยันว่าดีเอสไอเดินหน้าการสอบสวนอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเบื้องต้นที่มีการส่งสำนวนคดีผู้เสียชีวิต 4 กรณีให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชันสูตรพลิกศพใหม่ ก่อนส่งให้ศาลดำเนินการไต่สวนนั้นก็เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่ง ระบุว่าในกรณีที่เป็นการกระทำที่อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องต้องส่งให้ศาลเป็นผู้ไต่สวน เมื่อดีเอสไอสืบสวนพบว่าคดีใดอาจมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็ส่งเรื่องกลับไปดำเนินการตามกฎหมาย เช่นเดียวกับคดีอื่น ๆ ที่ทยอยพิจารณาตามพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่อง