ศอฉ.ให้ตำรวจประสาน “จตุพร” ตกลงรายละเอียดการชุมนุม 19 พ.ย.นี้
เตรียมกำลังดูแลทั้ง 3 จุด เฝ้าระวังการก่อเหตุ การขีดเขียนข้อความไม่เหมาะสมลงพื้นที่สาธารณะ ยืนยันจะปฏิบัติตามกรอบกฎหมายอาญา และข้อกำหนด ศอฉ. ยึดหลักเจรจา หลีกเลี่ยงความรุนแรง จนส่งผลให้ปัญหาบานปลาย ห่วงกระทบการจราจร
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงผลการประชุม ศอฉ.วันนี้
มี พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยการชุมนุมกลุ่ม นปช. วันที่ 19 พ.ย. ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งจะเป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนทหารได้จัดกองร้อยรักษาความสงบไว้สนับสนุน 3 กองร้อย ทั้งนี้ ศอฉ.ได้พูดถึงแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด สีใด
“วันที่ 17-18 พ.ย.นี้ เจ้าหน้าที่จะเชิญนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. มาทำความตกลงในรายละเอียดว่าสามารถทำสิ่งใดได้-ไม่ได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย และข้อกำหนดของ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมแถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมก็พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ได้ใช้ความระมัดระวังเต็มที่ เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด อาจทำให้สถานการณ์บานปลาย” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
ศอฉ.เตรียมรับมือเข้มชุมนุม 19 พ.ย.นี้
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า จะไม่อนุญาตให้ใช้รถขยายเสียงและการตั้งเวที รวมทั้งการค้าขายสินค้า
ที่อาจสร้างความรู้สึกแบ่งแยก หรือความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หมิ่นเหม่ต่อการจวบจ้วงสถาบัน จึงต้องมีข้อกำหนดตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ต้องตรวจยึดสินค้าเอาไว้ล่วงหน้า และมีกฎหมายของกทม. เรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ นอกจากนี้ ศอฉ.จะประสานกับกระทรวงมหาดไทย ให้ตั้งจุดตรวจค้นในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นต้นทางของประชาชนที่จะมารวมกันชุมนุม เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ไม่ให้นำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม
“ส่วนการจัดระเบียบการจราจร จะพยายามเปิดพื้นผิวการจราจรให้ตลอด ไม่ว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมากเพียงใดก็ตาม ซึ่งจะเป็นเรื่องรายละเอียดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและแกนนำต้องพูดคุยกัน หากมีคนจำนวนมาก จะจัดให้อยู่ในพื้นผิวที่ไม่ใช่การจราจร หากมีความจำเป็นต้องลงมาในพื้นผิวการจราจร ต้องเป็นลักษณะทางยาวออกไป ไม่ให้เป็นกลุ่มก้อน จนไม่สามารถเปิดการจราจรได้” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 3 กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมดูแลใน 3 พื้นที่หลัก
ที่มีการจัดกิจกรรมทางการเมือง คือ บริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้จัดกำลังกองร้อยปราบจลาจล 2 กองร้อย จำนวนกว่า 400 นาย โดยเริ่มตั้งแต่ 07.00 น. ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศจัดกิจกรรม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 3 กองร้อย และสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 7 กองร้อย ซึ่งจุดนี้ ศอฉ.เป็นห่วงว่าจะมีปัญหาการจราจรมาก เนื่องจากเป็นวันศุกร์
พ.ต.อ.ปรีดา กล่าวว่า ศอฉ. ยังแสดงความห่วงใยถึงการเขียนข้อความต่าง ๆ บนพื้นผิวถนน และแผ่นป้ายต่าง ๆ ในสถานที่สาธารณะ
ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม จึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าดูแล รวมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่สืบสวน สายตรวจนอกเครื่องแบบ และชุดจู่โจม เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้กระทำความผิด โดยในส่วนของ บช.น. ได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับจอดรถให้ผู้ชุมนุม และกำหนดเส้นทางการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ชุมนุมด้วย
“การจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแล ให้ยึดถือการปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย และตามข้อกำหนดของ ศอฉ. อย่างไรก็ตาม เราจะใช้การเจรจา หลีกเลี่ยงวิธีการที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง จนเป็นปัญหาบานปลายออกไป เจ้าหน้าที่จะดูแลการชุมนุมไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา หรือข้อกำหนดของ ศอฉ. ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายจะทำตามขั้นตอน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยรวม ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายของ ศอฉ. และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” พ.ต.อ.ปรีดา กล่าว.- สำนักข่าวไทย