พท.เรียกร้องตั้งคนกลางสอบคลิป
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลง กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคลิปกล่าวหา มีการโกงข้อสอบ เพื่อบรรจุเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญระดับ 3 ว่า ทราบมาว่าบิ๊กศาลรัฐธรรมนูญ จะตั้งคนใกล้ชิดมาสอบสวน จึงเกรงว่าผลสอบอาจมีปัญหา จึงอยากเรียกร้องให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หาคนที่เป็นกลางจริงๆ มาตรวจสอบและขอให้มีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะเกรงว่าหลักฐานต่างๆ จะสูญหายไปได้หากการดำเนินการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาล่าช้า นอกจากนี้ยังมองว่าขณะนี้ประชาชนกำลังถูกปิดหูปิดตา โดยการกระทำของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ที่ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ มาตรา 20 สั่งปิดเว็บไซต์ยูทูบที่มีการเผยแพร่คลิปดังกล่าวนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีส่วนได้ส่วนเสีย ในเรื่องของการยุบพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม พรรคกำลังตรวจสอบพฤติกรรมของนายจุติว่าเข้าข่ายกระทำความผิดในการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 หรือไม่
สงสัยแจ้งความหวัง"ตัดตอน"
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บางคนใช้สิทธิส่วนตัวร้องทุกข์กล่าวโทษคดีอาญากับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และหนังสือพิมพ์ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการตัดตอนผู้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จึงขอให้กองปราบฯและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบกรณีนี้อย่างเป็นธรรม โดยจะเข้ายื่นเอกสาร ผลคำพิพากษาฎีกาที่ 2418/2526 กรณี นายกเทศมนตรี และปลัดเทศบาล ได้ร่วมกันทำประกาศแก้ไขประกาศ 2 ฉบับ โดยการแก้ไขคุณวุฒิ อนุมัติให้มีคุณสมบัติเข้าสอบ มาเทียบเคียงในการประกอบการพิจารณา เพราะกรณีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาว่าเป็นการกระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เห็นว่าพฤติการณ์หนักหนาสาหัสกว่าฎีกานี้ เพราะเป็นการนำข้อสอบไปให้คนสอบดูล่วงหน้า
"ผมอยากเรียกร้องนักวิชาการ นักกฎหมาย พรรคการเมืองต่างๆ เอ็นจีโอ ออกมาช่วยกันตรวจสอบความจริงเรื่องนี้จะได้ปรากฏ นักการเมืองถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็นคนไม่ดี ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดขอช่วยกันให้ตรวจสอบด้วย" นายพร้อมพงศ์กล่าว
ปชป.จี้เลิกกดดัน-คุกคาม"ศาล"
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขณะนี้พรรควิตกการเคลื่อนไหว 2 ด้านคือ
1.กลุ่มที่มีการเตรียมการเพื่อที่จะดำเนินการลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม โดยแบ่งงานกันทำ มีการเตรียมการ จัดฉาก สร้างหลักฐานเท็จ เปิดโปงผ่านพรรคการเมืองก่อน และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เพื่อกดดันการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเป้าหมายให้เกิดความไม่ยอมรับผลการตัดสินของศาล ล่าสุด นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยออกมากดดันให้ ส.ส. และ ส.ว.เข้าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ทำให้สังคมสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พท.มีส่วนร่วมในการเผยแพร่คลิปทางยูทูบ ดังนั้น อยากถามกลับว่าที่ผ่านมามีคนเกี่ยวข้องและเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม จากกรณีติดสินบนถุงขนม 2 ล้านบาท นายจาตุรนต์เคยออกมาพูดบ้างหรือไม่ และ
2.อยากให้กลุ่ม นักวิชาการ องค์กร และบุคคลที่เป็นกลางออกมาสร้างความเข้าใจ ชี้นำสังคมไปในทางที่ถูกต้อง เพราะหากทำช้าไปจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าเกิดปัญหาการดำเนินการ 2 มาตรฐานจริงและไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมคำตัดสินของศาล ซึ่งกระบวนการยุติธรรมถือว่าเป็นกระบวนการสุดท้ายในการหาทางออกในความขัดแย้งทางการเมือง และขอร้องให้ทุกฝ่ายหยุดเคลื่อนไหวคุกคามศาลจนกว่าการ
วินิจฉัยจะสิ้นสุดและพรรคพร้อมเคารพในคำวินิจฉัย
ย้ำมติเดิมเรื่องแก้ไข"รธน."
ขณะที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ และมาตราเกี่ยวกับจำนวน ที่มา ส.ส.รวมถึงเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งมาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้แก้ไข แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนไม่เห็นด้วยนั้น นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคได้เริ่มศึกษาข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี นายสมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ เป็นประธาน ที่จะนำส่งร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมายังพรรคการเมืองทุกพรรคในสัปดาห์หน้า โดยจะมีการศึกษาก่อนจะถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน โดยพรรคจะดูสาระสำคัญควบคู่กับผลการจัดเวทีรับฟังต่างๆ เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ รวมทั้งมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ที่จะกำหนดกรอบเวลา และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปการเมือง สร้างกระบวนการปรองดองให้เกิดขึ้น กระบวนการนั้นยังอยู่ในฝ่ายบริหารที่จะรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น หากมีการกำหนดปฏิทินว่าจะนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาเมื่อใด แต่ละพรรคก็จะมีแนวทางที่ได้ปรึกษาหารือกันต่อไป
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า การวิจารณ์ว่าพรรคมีการเสนอความเห็นที่หลากหลายเป็นการสะท้อนการขาดการนำที่มีเอกภาพนั้น ขอยืนยันว่าพรรคตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังความเห็นทั้งในและนอกพรรคมาโดยตลอด ไม่มีการจำกัดความคิดถือว่ามีเอกสิทธิ์ในการแสดงออกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย พรรคยังยึดมติเดิมที่มอบหมายให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคได้ทำความเข้าใจ กับพรรคร่วมรัฐบาล พรรคการเมืองอื่นๆ และส.ว.ด้วย ซึ่งขั้นตอนต่อไปพรรคยังยึดมติเดิม โดยให้ไปประสานกับพรรคร่วมแล้วนำผลกลับมาแจ้งให้พรรครับทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป