กรณ์อัดกสท.-ทีโอทีไม่บริการปชช.

“กรณ์”จวกกสท.-ทีโอทีไม่บริการปชช.ทำเพื่อธุรกิจแฉแบ่งประโยชน์ ให้รัฐปีละแค่ 20% เชื่อกม.กสทช.นำไปสู่การปรับโครงสร้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประ กอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.....ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันฯพิจารณาเสร็จแล้ว

 สำหรับประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในคณะกรรมาธิการร่วมกันฯ คือ

 
1. จำนวนกสทช.ให้กลับไปมี 11 คน 
2. โครงสร้างของกสทช.ให้ตัดสัดส่วนตัวแทนของฝ่ายความมั่นคงและการบริหารราชการออก 
3. คุณสมบัติเรื่องอายุกสทช.กำหนด 35 - 70 ปี 
4.ให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการในการสรรหากสทช. 
5.ให้ส่งคืนผลกำไรจากค่าสัมปทานของรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม ภายใน 3 ปี 
6.บทเฉพาะกาลว่า ภายหลังจัดทำแผนแม่บทเสร็จ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปีหลังมี กสทช. หรือราว 1 ปีครึ่งภายหลัง พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ ให้ กสทช. จัดสรรคลื่นทีวีภาคประชาชนได้เป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ที่มีคลื่นอนาล็อคว่างอยู่ แต่ต้องสามารถเรียกกลับมาจัดสรรใหม่ เมื่อมีการการปรับการแพร่ภาพเป็นระบบดิจิตอลแล้ว

 นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ที่สมาชิกวุฒิสภาไปแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 84 ให้รัฐวิสาหกิจนำรายได้จากผลประกอบการที่ได้รับส่งให้กสทช.เพื่อส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จาก 1 ปีเป็น 3 ปี อยากถามว่า เดิมกำหนดไว้ 1 ปีแล้วไปขยายเป็น 3 ปีทำไม การใช้จ่ายเงินของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวเป็นที่น่าเคลือบแคลงแก่สาธารณะชน มองได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจ เมื่อเงินได้มาแล้วทำไมไม่รีบนำเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน อยากถามว่าแบบนี้ใครได้ประโยชน์ ดอกเบี้ยไปอยู่ที่ไหน รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ดอกเบี้ยหรือไม่ การทอดเวลาไปเนิ่นนานแบบนี้เกรงว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

 นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และรมว.คลัง อภิปรายว่า กฎหมายดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเป็นกฎหมายที่สังคมคาดหวังมากที่จะเปลี่ยนแปลงระบบโทรคมนาคมให้ทั่วถึงและทันสมัยมากขึ้น โดยต้องไปดูในเรื่องระบบโครงการของระบบโทรคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนสัมปทานที่ให้กับรัฐเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งตนรู้สึกอึดอัด และคาดหวังว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเมื่อเห็นตรงกันว่า หากต้องการปรับโครงสร้างเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการแก้ไขในเรื่องผลประโยชน์ของสัมปทาน ในมาตรา 84 ซึ่งก็มีคำตอบที่ได้คือถ้าเราเร่งรัดที่จะให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 บริษัทโอนรายได้เข้าสู่รัฐแทนที่ทำเองก็อาจทำให้ทั้งบริษัทอยู่ไม่ได้

 นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะรมว.คลังยืนยันและยืดหยัดว่าเราพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมของรัฐวิสาหกิจทั่วไปอยู่แล้ว มีรัฐวิสาหกิจหลายที่ที่ขาดทุนก็ไม่ได้หมายความว่าจะบริการประชาชนต่อไปไม่ได้ อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ก็ขาดทุนแต่เขาก็อยู่ได้ เพราะมาของบประมาณแผ่นดิน แต่อนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ต้องพิจารณา ส่วนกสท.หรือทีโอที ทำไมเรามองว่าเขาต้องมีรายได้ของเขา ตนไม่เข้าใจความคิดของคณะกรรมาธิการฯว่าทำไมต้องต้องขยายเวลาส่งเงินเข้าแผ่นดินจาก 1 ปีเป็น 3 ปี ในอดีตกสท.และทีโอที อาจเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการประชาชนและต้องแข่งขันกับเอกชน และแข่งขันกับเอกชน แต่ปัจจุบันทั้งสองบริษัทเน้นในเรื่องพาณิชย์ ไม่ได้เน้นบริการประชาชน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้สัมปทานของกสท.สูงถึง 20,000 กว่าล้านแบ่งให้รัฐแค่ 2,700 ล้านบาท โดยเฉลี่ยในแต่ละปีมีการแบ่งรายได้ให้รัฐแค่ร้อยละ 20 จึงอยากถามว่าที่ผ่านมากสท.ทำอะไรให้กับรัฐหรือประชาชน คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ ตนมั่นใจว่าเพื่อนสมาชิกอยากมีโอกาสพิจารณาในชั้นงบประมาณ ว่าการลงทุนคุ้มค่ากับพี่น้องประชาชนหรือไม่

 จากนั้นนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกรรมาธิการร่วมฯ ชี้แจงว่า ขอให้สมาชิกทั้งหมดเข้าใจว่าหากร่างพ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และโทรคมนาคม ที่ผ่านการพิจารณาของกมธ.ร่วม ไม่ผ่านการพิจารณาของสภา แม้ว่าจะใช้เสียงส.ส.ยืนยันกลับเข้ามาใหม่ได้ แต่ก็จะมีปัญหาที่เรื่องดี ๆ ที่แก้ไขในขั้นตอนกมธ.ร่วมจะถูกตัดออกไป ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันเป็นเวลานาน แต่ในเรื่องที่เห็นตรงกันแล้วก็ควรจะได้รับการพิจารณาต่อไป สำหรับในประเด็นที่ส.ส.หลายคนเป็นห่วง อาทิในมาตรา 84 ในเรื่องการส่งจ่ายรายได้ให้กระทรวงการคลัง ที่มีการถกเถียงกันว่าควรจะกำหนดให้ส่งรายได้หลังดำเนินกิจการ 1 ปี หรือ 3 ปี นั้น ตนได้หารือกับผู้บริหารทศท.และกสท. ว่าปัญหาคือเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารงาน หากกำหนดเพียงแค่ 1 ปีอาจทำให้เกิดปัญหาในการบริหารองค์กรภายในได้ ดังนั้นจึงขยายเป็น 3 ปี แต่ก็ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นางอนุรักษ์ บุญศล ส.ส.สกลนคร นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี อภิปรายถึงเรื่องการควบคุมสถานีวิทยุชุมชน โดยเฉพาะสถานีที่อ้างว่าปกป้องสถาบัน แต่กลับใช้เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์