นายสุขุม นวลสกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน ผสมกับบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ 125 คน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ข้อเสนอระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน พรรคเล็กอาจคิดว่า ตนเองจะได้เปรียบเนื่องจากเขตเล็กลงจากระบบปัจจุบันจึงคิดว่า อาจจะเจาะได้ โดยหากได้บางเขตที่มีผู้มีสิทธิ์เยอะก็อาจทำให้ชนะเขตนั้น แต่ตนเห็นว่า เป็นการคิดไปเอง เพราะมีสถิติชัดว่า พรรคใหญ่จะได้เปรียบหากดูจากการเลือกตั้ง ปี 2544 และ 2548 และถ้าเลือกตั้งต่อไปก็จะมีแนวโน้มเหลือ 2 พรรค แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งแบบปี 50 ที่ใช้เขตใหญ่เรียงเบอร์ โอกาสที่พรรคเล็กจะเบียดก็มี เพราะผู้มีสิทธิ์อาจจะเห็นใจเลือกพรรคเล็กติดเข้ามา 1 คน จาก 3 คน ขณะที่ ระบบเขตเดียวเบอร์เดียวต้องตัดสินใจแบบแพ้ชนะกันเด็ดขาด
นายสุขุม กล่าวต่อว่า ส่วนระบบบัญชีรายชื่อเขตประเทศ 125 คน พรรคใหญ่ก็ยิ่งได้เปรียบ เพราะคิดตามความนิยมของคนทั้งประเทศ แต่ถ้าคิดเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ตนคิดว่า ระบบปัจจุบันที่แบ่ง 8 กลุ่มจังหวัด จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.มากกว่า เพราะมีแฟนผูกพันเป็นการเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น หากดูการเลือกตั้งปี 50 ในภาคอีสาน พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.แบบเขตเดียวเบอร์เดียวได้ไม่ถึง 10 คน แต่ระบบสัดส่วนได้สูงถึง 8 คน ซึ่งขัดๆกันอยู่ และขึ้นกับการแบ่งกลุ่มจังหวัดด้วย อย่างไรก็ดี ถ้าคิดในระบบเขตประเทศ 125 คน เทียบเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังได้เปรียบกว่า เพราะพรรคเพื่อไทยวันนี้ไม่เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทยที่ชนะเลือกตั้งเด็ดขาดจนเป็นพรรคเดียวเมื่อปี 2548 เนื่องจากวันนี้พรรคเพื่อไทยหายไปหลายส่วนคือกลายเป็นพรรคต่างๆที่ร่วมรัฐบาล
เมื่อถามว่า ระบบใหม่จะช่วยให้พรรคฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบกว่าหรือไม่ นายสุขุม กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่น่าใช่ แต่จะทำให้กระจายหลายพรรคขึ้น ส่วนการที่ไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำของระบบบัญชีรายชื่อ ก็คงไม่ได้ทำให้มีพรรคมากขึ้นกว่าปัจจุบัน