วันที่ 27 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษกป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.กรณีกล่าวหา
ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทยกับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในการประกวดราคา ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา นายธีรยุทธ ทุมมานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ในการดำเนินการประกวดราคาให้เอกชนเป็นผู้ประกอบการขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Operator) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีนายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
เมื่อปีพ.ศ.2545 นายธีรยุทธ ทุมมานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการให้เอกชนประกอบการขนถ่ายตู้สินค้าขึ้น–ลงรถไฟที่ลานขนถ่ายตู้สินค้ารถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง (ฝั่ง B) ได้ร่วมกับนายเดชา พงษ์ไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักบริหาร 13 และนายวินิจ ปิณฑวนิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองนิติการและจัดการทรัพย์สิน ท่าเรือแหลมฉบัง กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาโครงการฯดังกล่าว ดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาโดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของ TOR กล่าวคือ มีการยกเลิกเงื่อนไขข้อกำหนดการให้คะแนนหัวข้อเงินลงทุน เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนผู้เข้าร่วมเสนอราคารายหนึ่งผ่านคุณสมบัติในเรื่องเงินลงทุน อีกทั้งยังปรับอัตราผลตอบแทนการลงทุนของโครงการขั้นต่ำ (IRR) ภายหลังจากที่มีการเปิดซองหมายเลข 1 (แผนการดำเนินธุรกิจ) เพื่อทำให้ผู้เสนอราคาอีกรายหนึ่งไม่ผ่านการพิจารณา อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2543 โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนผู้เสนอราคารายดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาประกอบการขนถ่ายตู้สินค้าขึ้น–ลงรถไฟที่ลานขนถ่ายตู้สินค้ารถไฟท่าเรือแหลมฉบัง (ฝั่ง B) และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของนายธีรยุทธ ทุมมานนท์ นายเดชา พงษ์ไพโรจน์ และนายวินิจ ปิณฑวนิช มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
และมีมูลเป็น ความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กำหนดเงื่อนไขอันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคา โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 และมาตรา 12
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช.จะได้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา
ในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายธีรยุทธ ทุมมานนท์ นายเดชา พงษ์ไพโรจน์ และนายวินิจ ปิณฑวนิช ในฐานความผิดดังกล่าว สำหรับความผิดทางวินัย เนื่องจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีคำสั่งลงโทษไล่นายธีรยุทธ ทุมมานนท์ และนายวินิจ ปิณฑวนิช ออกจากการเป็นพนักงานในการกระทำผิดนี้แล้ว ส่วนนายเดชา พงษ์ไพโรจน์ พ้นสภาพการเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปก่อนแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย