นายกรัฐมนตรียอมรับน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อจีดีพี โดยเฉพาะปีหน้า

กรุงเทพฯ 27 ต.ค.-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการรับมือของรัฐบาล” 

จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และอาจทำให้จีดีพีปี  2554  ต่ำกว่าปี 2553  เล็กน้อย โดยจะมีการหารือในคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจสัปดาห์หน้าทุกด้าน  เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน  รวมถึงจะดูแลราคาสินค้า  วัสดุก่อสร้าง ภายหลังจากน้ำท่วม  ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างซ่อมแซม  เพื่อไม่ให้มีราคาสูงเกินจริงจนกระทบต่อผู้ประสบภัย

นายกรัฐมนตรี คาดว่า ปีนี้จีดีพีจะเติบโตร้อยละ 7 และปีหน้าเติบโตร้อยละ  4.5-5 ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจเติบโตสูง

เนื่องจากฐานต่ำมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าที่คาดไว้จากหลายปัจจัยและหลายมาตรการที่นำเข้าไปแก้ปัญหา ในส่วนอัตราเงินเฟ้อ ตอนแรกรัฐบาลกังวลว่าจะสูงขึ้นมาก  แต่สามารถบริหารให้อยู่ในกรอบร้อยละ 3-5  ได้  ตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่การว่างงานลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1 และขณะนี้เริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต  จึงเห็นว่าเมื่อผ่านพ้น 2 ปัจจัยหลักที่รัฐบาลเคยกังวล  อีกทั้งขณะนี้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเกือบเข้าสู่การจัดทำงบแบบสมดุลแล้ว  การมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้นและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้ฐานะการคลังมีความยืดหยุ่นในการรองรับปัญหาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลก หลายปัจจัยที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความหลากหลายในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งจีน  อินเดีย  ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง  และเศรษฐกิจยุโรป  สหรัฐ  ทำให้มีความไม่สมดุลจากการไหลเข้าของเงินทุน  โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐยังเดินหน้าอัดฉีดเงินเพื่อแก้ปัญหาย่อมทำให้กระทบต่อเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งต้องเจอกับปัญหาดังกล่าวอีกนาน  ตลอดจนปัญหาภัยธรรมชาติยังส่งผลกระทบต่อไทย  เพราะภาคการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  เนื่องจากต้นปีมีปัญหาภัยแล้งไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอในการปลูกข้าว  การปลูกข้าวจึงล่าช้า  ทำให้ข้าวยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงนี้ เมื่อเจอปัญหาน้ำท่วมจึงได้รับความเสียหายอย่างมาก  ความผันผวนทางธรรมชาติจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกด้านหนึ่งที่กระทบเศรษฐกิจของประเทศ 

“ขณะที่ปัจจัยทางการเมือง  ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกด้าน  โดยขอยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่อยู่ครบเทอมแน่นอน  เพราะตั้งใจจะให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า  โดยขอประกาศว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมแพ้การเลือกตั้ง  หากสามารถทำให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบดีกว่าการชนะแล้วยังมีปัญหาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง  เพราะความเสี่ยงทางการเมืองยังมีอยู่  อย่างไรก็ตาม  ยอมรับยังมีกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและยุติธรรม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว


สำหรับความเสี่ยงอีกด้าน คือ  ข้อกฎหมาย  เช่น  ปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3  จี  ปัญหามาบตาพุด  

เนื่องจากไทยยังมีข้อด้อยในการตีความรัฐธรรมนูญ  จึงเกิดความสับสนในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ  แม้การดำเนินการหลายส่วนจะสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาและนักกฎหมาย  เพื่อดำเนินการไปตามคำแนะนำ  แต่เมื่อเกิดปัญหาศาลรัฐธรรมนูญได้มีการตัดสินไปอีกด้าน  เพราะข้อกฎหมายต้องรอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด จึงยังเกิดปัญหาเกี่ยวกับความเห็นทางกฎหมาย  ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องใช้เครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นรองรับปัญหาต่าง ๆ  การเรียนรู้และเลือกใช้มาตรการ  เพื่อให้เหมาะสมรวดเร็วทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  เช่น  การเลือกแนวทางแจกเงิน 5,000  บาทต่อครัวเรือน  เพื่อให้ถึงมือประชาชนโดยเร็ว  เนื่องจากอดีตปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในปี  2551  บางพื้นที่ยังไม่ได้รับเงินการช่วยเหลือดังกล่าว 

นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่า ต้องพยายามส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับเอกชน 

การเดินหน้าระบบสวัสดิการด้วยการเรียนรู้จากประเทศที่ไม่ใช่ระบบดังกล่าวและประเทศมีระบบสวัสดิการจนกระทบต่อฐานะการคลัง เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย  คาดว่าใน  6  ปีข้างหน้าระบบสวัสดิการของไทยจะมีความชัดเจนมากขึ้น 

นายไพบูลย์  นลินทรางกูร  ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย  กล่าวว่า  ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ 

แม้จะมีความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท  แต่เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศที่มีมูลค่านับ  10  ล้านล้านบาทแล้ว  คาดว่าไม่น่าจะเกิดความเสียหายมากต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม  เพราะปัญหาดังกล่าวน่าจะเกิดในช่วงระยะสั้น.-สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์