นอกจากนั้นยังใช้ข้าราชการ โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอไอ)
มาทำลายความน่าเชื่อถือของพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ทำหน้าที่สอบสวนคดีนี้ ทั้งๆที่อธิบดีดีเอสไอเอง เป็นผู้แสดงบทบาทในเรื่องอื่นๆ อย่างไม่เหมาะสมบ่อยครั้ง และเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอให้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นคดีพิเศษ
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในส่วนเนื้อหาการสู้คดีนั้นจะพบว่าในกฎหมายทุกฉบับระบุชัดเจน
ว่าให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำบัญชีงบดุลฯให้ถูกต้อง เมื่อมีการทำไม่ถูกต้อง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่เคยเห็นชอบกับรายงานงบดุลและเป็นคนที่เห็นว่าไม่ควรยุบพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดี จึงต้องนำตัวประธาน กกต. มาเป็นพยาน
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แม้จุดอ่อนของคลิปทั้งหมดจะมี 2 จุด
คือ 1.การเอาคลิปภาพเหตุการณ์การมอบรับรางวัลและ 2.การบันทึกภาพการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สามารถหักล้างเนื้อหาของคลิปในส่วนอื่นๆ ที่ได้มีการหารือกันได้ โดยเฉพาะในคลิปที่ 2 ที่ข้อความในการพูดคุยทั้งหลายฟังได้ว่า นายวิรัช ได้พูดคุยกัยนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายวรวุฒิ นวโภคิน อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเห็นร่วมกันว่าควรให้ประธาน กกต.มาเป็นพยานให้กับฝ่ายประชาธิปัตย์และพยายามจะใช้คนมากดดันศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พูดมาตลอดว่าอย่ากดดันศาลและชัดเจนว่าไม่ใช่การจัดฉากหรือล่อซื้อใดๆ
ส่วนในคลิปที่ 4 ที่เป็นคลิปการหารือกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึงแนวทางการกดดันประธาน กกต.ให้ยอมมาเป็นพยานให้พรรคประชาธิปัตย์นั้น
สอดสอดคล้องกับแนวทางการสู้คดีของพรรคประชาธิปัตย์และคำให้การของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เน้นย้ำไปที่ประธาน กกต. และจำเป็นจะต้องมาร่วมเป็นพยาน ดังนั้นจึงสามารถสรุปข้อมูลทั้งหมดได้ว่า 1.มีความพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ จากศาลรัฐธรรมนูญในทางที่จะให้เป็นประโยชน์กับการสู้คดีของพรรคประชาธิปัตย์ 2.มีความพยายามของตุลาการบางคนที่จะช่วยพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ถูกยุบพรรค ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่สุจริตเที่ยงธรรม ผิดต่อคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่ง
“การปลดนายพสิษฐ์ จากตำแหน่งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือการออกมาบอกว่าจะดำเนินคดีว่าใครบันทึกเทปและเผยแพร่คลิปนั้นไม่สามารถลบล้างข้อความการหารือกันในคลิปได้ ดังนั้นจึงไม่ควรหลงประเด็น และศาลรัฐธรรมนูญก็ควรไปตรวจสอบว่ามีการพูดตามที่ปรากฎในคลิปจริงหรือไม่ และใครเป็นผู้พูด พูดว่าอะไร มีการแต่งหน้าเลียนแบบหรือเลียนเสียงตุลาการหรือไม่ หากไม่จริงก็ให้ชี้แจงเพื่อให้ทุกอย่างได้ข้อยุติ แต่หากจริงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็ควรลาออกจากตำแหน่ง และสังคมก็ควรช่วยกันคิดว่าตุลาการเหล่านั้นควรจะลาออกก่อนคดียุบพรรคหรือจะรอให้พิพากษาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เสียก่อนแล้วถึงค่อยลาออก แต่หากพบว่าข้อมูลทั้งหมดจริงแล้วยังไม่ลาออกจากตำแหน่งอีกในอนาคตเมื่อมีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรยุบศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการบัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้หมดวาระ แล้วแก้ไขที่มาขององค์ประกอบที่มาของศาลรัฐธรรมนูญใหม่ให้สามารถตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญได้แล้วสรรหากันใหม่ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรมไว้”