คมชัดลึก :กทม.มั่นใจสถานการณ์น้ำยังอยู่ในเกณฑ์รับมือไหว แต่จับตา 26 ต.ค. น้ำทะเลหนุนสูงสุด พร้อมประสานกรมชลฯ ปล่อยน้ำไม่เกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที ชี้ 8 พ.ย.น้ำทะเลหนุนสูงสุดในรอบปี +1.32 ม. (21ต.ค.) นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สำหรับในวันที่ 26 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูงนั้น กทม.ได้ประสานงานกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
จากการสรุปสถานการณ์น้ำ ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ คาดว่าจะมีระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ซึ่งคาดการณ์โดยกรมอุทกศาสตร์และกรมชลประทานบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ และบริเวณสะพานพุทธ วัดได้ +1.64 ถึง + 1.71 เมตร โดย กทม.จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วง 17.30 น. เป็นต้นไป ขณะที่สถานการณ์น้ำฝน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าในวันที่ 24-27 ต.ค. ในพื้นที่ กทม.จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ถึง กทม.
ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือ ขณะนี้กรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อออกทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยล่าสุดวันนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน กทม.อยู่ที่ 3,835 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน( 20 ต.ค.) ที่มีปริมาณ 3,655 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่ง กทม.ได้ประสานงานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด โดยกรมชลประทานจะปล่อยน้ำผ่าน กทม. ในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงประมาณ 3,000-3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
“เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่นิ่ง เพราะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนทางตอนเหนือลงมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเท่ากับเหตุอุทกภัยเมื่อปี 2549 ส่วนชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมเจ้าพระยา จากการติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงคืนที่ผ่านมายังไม่มีรายงานว่ามีพื้นที่ใดใน กทม.ถูกน้ำท่วม ซึ่งสำนักระบายน้ำจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าประจำการตามจุดเสี่ยงต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ” ผอ.สำนักการระบายน้ำ ระบุ
คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ มีดังนี้ 1. หากปริมาณน้ำที่ผ่าน กทม. 3,5000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะมีระดับสูง 1.86 + 0.10 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง(รทก.) 2. หากปริมาณน้ำที่ผ่าน กทม. 4,000 ลบ.ม./วินาที จะมีระดับสูง 2.13 + 0.10 ม. รทก. และ 3. หากปริมาณน้ำที่ผ่าน กทม. 4,500 ลบ.ม./วินาที จะมีระดับสูง 2.35 + 0.10 ม. รทก. นอกจากนี้ ยังต้องจับตาในวันที่ 8 พ.ย. ที่น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในรอบปี โดยคาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีระดับสูง +1.32 ม.รทก.
เตือน27ชุมชน13เขตระวังน้ำเหนือเข้ากรุง
พร้อมกันนี้นายสัญญา ยังกล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่แนวป้องกันน้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำหนุนริมเจ้าพระยา
สำหรับชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่ได้รับผลกระทบหรือจุดอ่อนน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำหนุนริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 27 ชุมชน จำนวน 1,273 ครัวเรือนในพื้นที่รับผิดชอบ 13 สำนักงานเขต ได้แก่ เขตบางซื่อ มี 2 ชุมชน คือ ชุมชนพระราม 6 (ฝั่งติดแม่น้ำ) 25 ครัวเรือน และชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ 46 ครัวเรือน เขตดุสิต มี 5 ชุมชน คือ ชุมชนเขียวไข่กา(ถ.เขียวไข่กาช่วงปลาย) 20 ครัวเรือน ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ(เชิงสะพานกรุงธน) 40 ครัวเรือน ชุมชนซอยสีคาม(ซอยสามเสน 19 ช่วงปลาย) 11 ครัวเรือน ชุมชนปลายซอยมิตรคาม(ซอยสามเสน 13 ช่วงปลาย) 140 ครัวเรือน และชุมชนวัดเทวราชกุญชรฯ(ถ.ศรีอยุธยาช่วงปลาย) 40 ครัวเรือน เขตพระนคร มี 3 ชุมชน คือ ชุมชนท่าวัง 80 ครัวเรือน ชุมชนท่าช้าง 25 ครัวเรือน และชุมชนท่าเตียน 120 ครัวเรือน เขตสัมพันธวงศ์ มี 2 ชุมชน คือ ชุมชนวัดปทุมคงคา(ท่าน้ำสวัสดี) 12 ครัวเรือน และชุมชนตลาดน้อย 10 ครัวเรือน
เขตบางคอแหลม มี 4 ชุมชน คือ ชุมชนวัดบางโคล่นอก 36 ครัวเรือน ชุมชนหน้าวัดอินทร์บรรจง 13 ครัวเรือน ชุมชนซอยมาตานุสรณ์ 31 ครัวเรือน และชุมชนหลังร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์ 14 ครัวเรือน เขตยานนาวา มี 1 ชุมชน คือ ชุมชนโรงสี(ถ.พระราม 3) 60 ครัวเรือน เขตคลองเตย มี 1 ชุมชน คือ ชุมชนสวนไทรริมคลองพระโขนง 9 ครัวเรือน เขตบางพลัด มี 1 ชุมชน คือชุมชนวัดฉัตรแก้ว 8 ครัวเรือน เขตบางกอกน้อย 4 ชุมชน คือ ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ 153 ครัวเรือน ชุมชนปากคลองน้ำตาล-คลองพิณพาทย์ 103 ครัวเรือน ชุมชนตรอกวังหลัง 66 ครัวเรือน และชุมชนดุสิต-นิมิตรใหม่ 23 ครัวเรือน เขตธนบุรี 1 ชุมชน คือ ชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่ 12 ครัวเรือน 11.เขตคลองสาน 1 ชุมชน คือ ชุมชนเจริญนครซอย 29/2 มี 11 ครัวเรือน เขตราษฎร์บูรณะ มี 1 ชุมชน คือ ชุมชนดาวคะนอง 157 ครัวเรือน
เขตทวีวัฒนา มี 1 ชุมชน คือ ชุมชนวัดปรุณาวาส 38 ครัวเรือน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายงานย้อนหลังของสำนักการระบายน้ำกทม.พบว่า ชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมในเขตพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกทม.มีอัตราลดลงเป็นระยะๆ ซึ่งจากเดิมในปี 50 มีชุมชนจุดเสี่ยงมากถึง 32 ชุมชนและมีจำนวนครัวเรือนกว่า 2,000 ครัวเรือน ต่อมาในปี 2551 ลดลงเหลือ 30 ชุมชน 1,563 ครัวเรือน และล่าสุดเมื่อปี 2552 มี 28 ชุมชน 1,331 ครัวเรือนก่อนที่จะเหลือ 27 ชุมชนในปัจจุบัน