นายกฯ ไทย-พม่าหารือชื่นมื่น เตรียมเปิดจุดผ่านแดนสิงขรถาวร-หนุนพัฒนาท่าเรือทวาย เบรกไทยอย่ายุ่งเรื่องการเมืองในประเทศ
วันนี้ (12 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง การหารือทวิภาคีกับ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกฯ สหภาพพม่า ในระหว่างการเยือนสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการ ว่า การพูดคุยในภาพรวมเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดการเพิ่มพูนการค้า การลงทุน และเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาแรงงาน ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหาการค้ามนุษย์ และปัญหาอื่น ๆ ที่กระทบกับ 2 ประเทศ โดยเป็นการหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งมีความเห็นตรงกันหลายเรื่อง และจะพยายามปรับปรุงกลไกต่าง ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้
นายกฯ กล่าวต่อว่า มีปัญหาบางเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เช่น การปิดด่านแม่สอด จ.ตาก ซึ่งพม่าระบุว่า ยังมีปัญหาที่ต้องจัดการภายในให้เรียบร้อยก่อน แต่ได้มีการพูดถึงการเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทางพม่ารับที่จะไปดู รวมถึงจะมีการพัฒนาสนับสนุนพื้นที่ทวายอย่างต่อเนื่อง โดย 2 ประเทศเห็นพ้องกันว่า ในอนาคตควรมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการตั้งพื้นที่การผลิตบริเวณชายแดน จะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ได้หลายปัญหา รวมถึงปัญหาแรงงาน
"พม่ารับที่จะไปดูเรื่องเปิดด่าน โดยบอกว่า จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเขาต้องการที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน และคิดว่าไม่มีปัญหาคนทะลัก เพราะปัญหาคนทะลักไม่เกี่ยวกับว่ามีด่านหรือไม่มีด่าน เพราะคนที่ทะลักเข้ามา คือ ไม่มาทางช่อง ดังนั้น อันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการจ้างงาน ถือเป็นหัวใจสำคัญ" นายกฯ กล่าว
สำหรับการพิสูจน์สัญชาติแรงงานที่ยังค้างอยู่จำนวนมากนั้น นายกฯ กล่าวว่า ในการพูดคุย ตนได้ขอให้พม่าช่วยอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีจุดที่ จ.ระนอง ที่สามารถพิสูจน์ได้ในฝั่งไทย และพม่าจะยืดเวลาให้จนถึงสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่มีการเพิ่มจุด
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และปัญหาการค้ามนุษย์นั้น หน่วยงานทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมมือกันอยู่ แต่ตนเห็นว่าอาจจะต้องให้กลไกของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ร่วมมือกัน และช่วยกันดูแล ไม่ว่าจะเป็นด้านการข่าว หรืออาจจะมีการลาดตระเวนร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้ มีกลไกในระดับพื้นที่อยู่แล้ว แต่อาจจะขาดการบูรณาการ เช่น กรณีของไทยเวลามีปัญหาต่างมองว่าเป็นเรื่องของอีกหน่วยงานหนึ่ง หรือมองว่าเป็นเรื่องของศุลกากร เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งบางครั้งจะทำให้การเชื่อมโยงอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ในการเดินทางมาเยือนพม่าครั้งนี้ จึงมีการมอบนโยบายแก่ทีมไทยแลนด์ว่า ให้ทำอย่างไร เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อ และเชื่อมโยงกันได้
นายกฯ ยังได้กล่าวถึง การพูดคุยถึงการเลือกตั้งของพม่าที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ว่า พม่าได้อธิบายถึงการจัดการเลือกตั้งของพม่าว่า มีแผนเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ขณะเดียวกัน เขาได้ยืนยันว่า ทราบดีถึงข้อห่วงใยของประชาคมโลก และได้แสดงความมั่นใจว่า สามารถดูแลปัญหาต่าง ๆ ภายในได้ โดยไม่ได้ร้องขอให้ไทย หรืออาเซียนเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ตนได้ถ่ายทอดสะท้อนถึงข้อห่วงใยของประชาคมโลก เพราะจุดที่ท้าทายคืออาเซียนจะต้องเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างพม่ากับประชาคมโลกต่อไป ให้เกิดความเข้าใจ และวางรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสม
ส่วนข้อห่วงใยเรื่องนักโทษการเมือง รวมทั้งเรื่องของ นางออง ซาน ซูจี ที่ยังคงถูกควบคุมตัวนั้น นายกฯ กล่าวว่า พม่ายืนยันว่า เป็นเรื่องภายในของพม่า ไม่ใช่เรื่องการเมือง ซึ่งพม่าพยายามชี้แจงในลักษณะนี้โดยตลอด รวมถึงกรณีชนกลุ่มน้อยที่อยู่บริเวณตะเข็บชายแดนด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดหนึ่งที่พม่าจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย เพราะจะรวมไปถึงบทบาทชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณชายแดนด้วย เนื่องจากตรงนี้คือที่มาของปัญหาส่วนหนึ่งที่กระทบกับไทย ซึ่งก็หวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มีความชัดเจนมากขึ้น ก็อาจจะคลี่คลายเงื่อนไขบางอย่างได้
นายกฯ ยังกล่าวถึง การเข้าคารวะ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ว่า ได้เน้นถึงความสำคัญในความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ที่มีพรมแดนติดกัน เกิดอะไรขึ้นก็กระทบกับอีกประเทศหนึ่ง คิดว่าสภาพปัญหาที่อาจจะรุนแรงขึ้นในระยะหลัง ถือเป็นธรรมชาติของการเคลื่อนย้ายของคนที่ทำได้ง่ายขึ้น และแสวงโอกาสทางเศรษฐกิจกัน แต่ตนมองว่าการมาพูดคุย และมีการมองตรงกันถึงที่มาของปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาว ที่น่าจะเป็นการปรับความเข้าใจ และนำไปสู่กลไกในการแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม พม่าไม่ได้พูดถึงการเยือนประเทศไทย เนื่องจากอยู่ระหว่างที่จะมีการเปลี่ยนแปลงภายใน แต่ผู้นำ 2 ประเทศ จะมีโอกาสพบกันอีกในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในปลายเดือนนี้อย่างแน่นอน