นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์
ถึงการเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ที่ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคมนี้ ว่า ขณะออกอากาศเทปบันทึกรายการวันนี้ ตนได้เดินทางไปประเทศเบลเยี่ยมแล้ว การประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ระหว่างประเทศในทวีปเอเชียและยุโรป โดยมีการแบ่งหัวข้อย่อยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำประเทศทั้ง 2 ทวีป ครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การสร้างระบบธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ให้มีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำ เรื่องที่ 2 เป็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในทุกด้านทั้ง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องที่ 3 เป็นการหารือเกี่ยวกับปัญหาในแต่ละภูมิภาคโดยเฉพาะ เช่น การเตรียมขยายตัวของประเทศในเอเชีย ส่วนเรื่องสุดท้ายคือการแลกเปลี่ยนกันในความเป็นไปได้ของการทำให้ประชาชนของทั้งสองทวีปมีความใกล้ชิดกัน รวมถึงการทำงานของอาเซมในภาพรวม โดยการประชุมอาเซมจัด 2 ปีครั้ง ห่างกันพอควร และเพิ่งผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมา ไทยเองก็กำลังฟื้นตัวได้ดี ขณะที่ยังมีความห่วงใยยุโรปบางประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะ ประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการประสานความร่วมมือฟันฝ่าวิกฤต
"การประชุมครั้งนี้ผู้นำของทั้ง 2 ทวีป จะได้แลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศทั่วโลก ตลอดจนการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ทวีป นอกจากนี้ ผมจะใช้โอกาสนี้หารือทวิภาคีด้านการค้า การลงทุน โดยจะเน้นในเรื่องไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าจนกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อมีผู้นำประเทศต่างๆ ไปพร้อมกัน ก็จะได้หารือเรื่องที่ไม่เป็นทางการด้วย รวมถึงกับนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
หลังจากคุยกันที่นิวยอร์คแล้วมีความคืบหน้าอย่างไร ทางไทยเองคืบหน้าไปมากช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตนเพิ่งรับตำแหน่งจึงถือโอกาสพบปะกับผู้นำหลายประเทศที่ยังไม่ได้พบกัน จากนั้นจะไปเดินทางไปนิวยอร์คเพื่อดูงานผู้ต้องขังหญิง ซึ่งพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงงานมา 1-2 ปีแล้ว คาดว่าปีนี้จะได้รับคำรับรองเป็นปฏิญากรุงเทพ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานสากลที่ริเริ่มจากประเทศไทย ซึ่งพระองค์ภาทรงงานอย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง