'มาร์ค' หัก 'เทือก' ประกาศจะนั่งประธานก.ตร. คุมเองประชุม โผพล.ต.ต. นัดวันประชุมใหม่วันที่ 8 ต.ค.นี้ จากเดิมที่ "เทือก" นัดประชุมวันที่ 7 ต.ค. ระบุแจ้งฝ่ายเลขาฯ ก.ตร.ไปแล้ว "ชัจจ์ กุลดิลก" ชี้ถ้าสุเทพนัดประชุมถือว่าไม่สมควร
เพราะประกาศแล้วว่าจะลาออก ถือว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ และเป็นการแต่งตั้งทิ้งทวนวางฐานเอาไว้ ผบ.ตร.สั่ง ทุกหน่วยเร่งจัดทำบัญชีอาวุโสตั้งแต่ระดับรองผบช.-รองผบก. ภายในวันที่ 4 ต.ค. ห้ามล่าช้าผลัดส่งเด็ดขาด รรท.ผบช.น.เรียกประชุมนายตำรวจระดับสูง แบ่งงานใหม่รองผบช.น.และประกาศแนวทางทำงาน
จากกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และประธานก.ตร. เตรียมนัดประชุมก.ตร.พิจารณาโผรองผบช.-ผบก. ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ซึ่งมีการมองว่าเป็นการแต่งตั้งทิ้งทวน เพราะเป็นวันสุดท้ายก่อนที่นายสุเทพจะต้องลาออกจากรองนายกฯไปลงสมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส.สุราษฎร์ธานีนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาจัดทำโผบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับผู้บัญชา การลงมา จะเสร็จสิ้นทันวันที่ 7 ต.ค.นี้หรือไม่ โดยกล่าวเพียงว่า "เขาห้ามไม่ให้สัมภาษณ์"
พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตผบช.ก. กล่าวว่า การที่นายสุเทพ นัดประชุมก.ตร. เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
หากพิจารณาในแง่จริยธรรมและคุณธรรม เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จึงควรให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาดำเนินการ นายสุเทพประกาศว่าจะลาออกจากรองนายกฯ จึงเท่ากับว่าไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรอีก จึงควรปล่อยให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาพิจารณา
"การที่นายสุเทพเรียกประชุมก่อนลาออก มองอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องการแต่งตั้งตำรวจเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง วางรากฐานไว้เพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้า"พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าว
พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว ก.ตร. เป็นองค์กรที่ไม่ใช่ข้าราชการ ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติก็ระบุไว้ชัดเจนว่าให้นายกฯเป็นประธานโดยตำแหน่ง หากนายกฯไม่ว่าง ก็ต้องเลือกจากที่ประชุมก.ตร.ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ประธาน แต่นายกฯก็ไปอ้างระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่มอบหมายให้นายสุเทพ เป็นประธานก.ตร.แทน ซึ่งตามกฎหมายแล้วทำไม่ได้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและข้าราชการตำรวจ อยู่ในสภาพที่พูดอะไรไม่ได้ หากฟ้องร้องหรือร้องเรียนไปแล้วถูกกลั่นแกล้งจะทำเช่นใด ดังนั้น เท่าที่นายสุเทพ มานั่งเป็นประธานก.ตร.ก็ผิดกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไร
อย่างไรก็ตาม เวลา 16.00 น. วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่าจะมีการประชุมก.ตร. เพื่อพิจารณาตำแหน่งในส่วนที่ยังไม่ได้พิจารณานั้น
จากการตรวจสอบทราบว่า ก.ตร.ต้องการพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับถัดมาที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยต้องการให้พิจารณาแล้วเสร็จตามมติก.ตร.เดิมคือก่อนกลางเดือนต.ค. เพื่อรักษาสิทธิของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย ฉะนั้น ตนจึงนัดประชุมก.ตร.ในวันที่ 8 ต.ค.นี้ หลังจากเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา โดยจะทำหน้าที่เป็นประธานก.ตร.เอง ซึ่งได้แจ้งให้ฝ่ายเลขาฯก.ตร.ไปแล้ว และนายสุเทพก็เห็นด้วย
มีรายงานข่าวว่า การนัดประชุมก.ตร.ในวันที่ 7 ต.ค.ของนายสุเทพนั้น เป็นการนัดหมายแบบเงียบๆ โดยที่นายอภิสิทธิ์ไม่ทราบมาก่อน และเป็นช่วงที่นายอภิสิทธิ์ประชุมอยู่ต่างประเทศด้วย ดังนั้น การที่นายอภิสิทธิ์สั่งให้เลื่อนประชุมไปอีก 1 วันและจะบินกลับมาทำหน้าที่ประธานก.ตร. เอง เท่ากับนายสุเทพจะไม่มีสิทธิ์ยุ่งเกี่ยวกับการโยกย้ายนายพลตำรวจชุดนี้ คาดว่านายอภิสิทธิ์จะให้คนใกล้ชิดเป็นผู้จัดทำโผโยกย้ายเองด้วย ส่วนโผที่นายสุเทพกำลังเร่งจัดทำขณะนี้เพื่อเตรียมนำเข้าก.ตร.ในวันที่ 7 ต.ค. คงไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว
วันเดียวกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด 0009.231/3666 เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ถึงผู้บัญชาการหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้บังคับการในสังกัดสำนักงานผบ.ตร.หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า โดยระบุว่า เพื่อการแต่งตั้งระดับผบก.-รองผบช.วาระประจำปี 2553 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ทุกหน่วยดำเนินการดังนี้
ในหน่วยงานสังกัดสำนักงานผบ.ตร. 1.ให้สำนักงานกำลังพล (สกพ.) จัดส่งบัญชีลำดับ อาวุโสข้าราชการระดับรองผบก.และผบก. และบัญชีตำแหน่งว่างระดับผบก.และรองผบช.ให้แก่คณะกรรมการคัดเลือกและก.ตร.ภายในวันที่ 1 ต.ค. และ 4 ต.ค.ตามลำดับ เพื่อศึกษาเป็นข้อมูลก่อนการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้ง โดยให้สกพ. เป็นผู้จัดทำข้อมูลและประสานการปฏิบัติการสำนักงานก.ตร. 2.ให้จัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการตำรวจระดับรองผบก.และผบก.ผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น (บัญชีสรรหา) และผู้ไม่เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น (ถ้ามี) บัญชีข้อมูลคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการระดับรองผบก.เลื่อนดำรงตำ แหน่งระดับผบก. และผบก.เลื่อนดำรงตำแหน่งระดับรองผบช. รวมทั้งบัญชีข้อมูลคัดเลือกแต่งตั้งสับเปลี่ยนหมุนเวียน ส่งไปยังกองทะเบียนพล ภายในวันที่ 4 ต.ค.
ในการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ให้ดำรงตำแหน่งในบช.ที่มิได้สังกัด สง.ผบ.ตร. ซึ่งเป็นอำนาจของผบช. ให้จัดส่งบัญชีลำดับอาวุโสข้าราชการตำรวจระดับรองผบก.และผบก. และบัญชีตำแหน่งว่างให้คณะกรรมการคัดเลือกระดับบช.ภายใน 1 ต.ค. เพื่อศึกษาเป็นข้อมูลก่อนการคัดเลือกแต่งตั้ง และให้จัดทำบัญชีรายชื่อข้าราช การตำรวจส่งไปยังตร. ผ่านกองทะเบียนพล ภายใน 4 ต.ค. ดังนี้
1.บัญชีรายชื่อระดับรองผบก.และผบก.ที่เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น (บัญชีสรรหา) และผู้ไม่เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น (ถ้ามี) และข้อมูลประกอบการพิจารณาที่สำคัญ เช่น บัญชีผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นของหน่วยรอง รายงานการประชุมการพิจารณาจัดทำบัญชีผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นของหน่วยเป็นต้น
2.บัญชีคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผบก. เลื่อนตำแหน่งระดับผบก. และระดับ ผบก.เลื่อนขึ้นระดับ รองผบช. รวมทั้งบัญชีคัดเลือกแต่งตั้งหมุนเวียน และข้อมูลประกอบการพิจารณาที่สำคัญ เช่น รายงานการประชุมคัดเลือกแต่งตั้ง หนังสือประสานงานทำความตกลงระหว่างหน่วยในการคัดเลือกแต่งตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ ผบ.ตร.ระบุในบันทึกข้อความว่าให้ดำเนินการตามกำหนดเวลาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ห้ามผลัดส่งเด็ดขาด
ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา รรท.ผบช.น. พร้อม รองผบช.น.ทุกคน และผบก.น.1-9 เข้าร่วมประชุม เพื่อวางแนวทางการทำงานของบช.น. ให้การบริหารเป็นไปทิศทางเดียวกัน
พล.ต.ท.จักรทิพย์ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการหารือแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อที่จะให้ตำรวจนครบาลขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน มีการพูดคุยปัญหาข้อขัดข้อง โดยให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในที่ประชุมเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ซึ่งตนก็จะนำไปปรับใช้แก้ปัญหาต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามการแบ่งงานของตำรวจนครบาลเป็นอย่างไร พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า การแบ่งงานจะอิงแบบทำงานของเดิมไว้
หลังจาก พล.ต.ต.สุพร พันธ์เสือ รองผบช.น.เลื่อนขึ้นเป็น รรท.สกบ. และพล.ต.ต.ลัทธสัญญา เพียรสมญา รองผบช.น.เกษียณอายุราชการ จึงให้ พล.ต.ต. อนันต์ ศรีหิรัญ รองผบช.น. มาคุมงานแทน ส่วนงานของ พล.ต.ต.ลัทธสัญญา มอบให้พล.ต.ต.ดำริห์ โชติเศรษฐ์ รองผบช.น. ทำงานแทน และพล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผบช.น.ดูงานแทน พล.ต.ต.สุพร
เมื่อถามว่าการควบคุมปราบปรามอบายมุขมีการมอบหมายงานอย่างไร รรท.ผบช.น.กล่าวว่า พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ และพล.ต.ต.บุญส่ง พานิชอัตรา รองผบช.น. เป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว จากสถิติที่ดูในปี 52 การปราบปรามเป็นที่น่าพอใจ แต่ตนก็จะกำชับกวดขันตลอด ต่อข้อถามว่า การข่าวตอนนี้มีเรื่องใดน่าเป็นห่วงบ้าง พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุ แต่ปกติแล้วการชุมนุมของกลุ่มการเมืองก็จะชุมนุมในช่วงเดือนเม.ย. พ.ค. และต.ค. ซึ่งเป็นเดือนสัญลักษณ์ของการชุมนุมอยู่แล้ว อย่างเดือนต.ค.นี้ก็จะมีในวันที่ 6 ต.ค. และ 14 ต.ค. นครบาลได้วางแผนไว้แล้ว งานแรกที่จะเข้าทำก็เป็นเรื่องความมั่นคงก่อน
วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมจูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ รรท. ผบช.ก. เป็นประธานการชุมนุม "ร่างแผนปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง" โดยมีข้าราชการตำรวจในสังกัดตั้งแต่ชั้นประทวนถึงสัญญาบัตรกว่า 1,500 นายเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ยังมีนายไบรรอน ทราเวิร์น เจ้าหน้าที่ซีเครทเซอร์วิส สหรัฐอเมริกา นายลีโอนาร์ด ร็อกคา ผู้บัญชาการตำรวจชิคาโก และอดีตผู้บัญชา การตำรวจชิคาโก เข้าร่วมงาน
พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ กล่าวว่า ได้กำชับให้ตำรวจช่วยกันปรับภาพลักษณ์จากเดิมที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ลูกน้องไปปฏิบัติ แต่ผู้ปฏิบัติขาดความรู้ ความชำนาญทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพจึงต้องปรับปรุงการทำงานร่วมกันใหม่ เริ่มตั้งแต่ชั้นประทวนไปถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง เริ่มจากการสำรวจว่าใครถนัดงานอะไร และแจกจ่ายงานไปตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยจะเน้นการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากตำรวจคนไหนไม่ปฏิบัติตามนโยบาย จะมีมาตรการลงโทษอย่างไร พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์กล่าวว่า ตำรวจนั้นแบ่งเป็นสามระดับคือ เมื่อสั่งไปแล้วก็ทำงานได้ทันที ระดับที่สองคือ เฉื่อยชาไม่สนใจ ส่วนประเภทที่สามคือ การต่อต้านไม่ปฏิบัติตาม ในทางปฏิบัติจะต้องเข้าไปพูดคุย ปรับปรุงสภาพจิตใจเพื่อให้พร้อมที่จะเป็นตำรวจอาชีพ ซึ่งถ้าทำไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่องจะขอให้ยื่นซองขาวออกไปดีกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกล่าวกับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ พร้อมคณะได้เดินทางมาชมนิทรรศการบริเวณด้านหน้าห้องประชุม โดยหนึ่งชิ้นงานที่ถูกนำเสนอในงานนี้คือรูปปั้น "จ่าเฉย" ซึ่งพล.ต.ต.พงศ์พัฒน์มีแนวคิดจะขอจ่าเฉยมาใช้ในสังกัดบช.ก. เนื่องจากได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่าจ่าเฉยนั้นถูกเก็บเข้ากรุอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เคยมีเรื่องอื้อฉาวจนถูกถ่ายคลิป หรือถูกร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องส่วย จึงอยากจะทำเรื่องขอกลับเข้าทำงานในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญา กรรม และเพื่อเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรต่อไป
นอกจากนี้ ในนิทรรศการยังมีการนำเสนอสถิติที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น คดีฆาตกรรมที่สำรวจโดย UNODC เมื่อปี ค.ศ.1998-2000 พบว่าประเทศไทยมีสถิติคดีฆาตกรรมมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ 79.58%