สมช.เปรยหน่วยข่าวคุยกันอาจมีบึ้มมากกว่า 8 จุด แต่ยังไม่ขอชี้เป้า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เรียกนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะเลขานุการศอฉ. เข้าพบที่ห้องทำงานบนตึกบัญชาการ 1 ชั้น 5 โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที


จากนั้น นายถวิลกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพเห็นตรงกันว่าให้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 5 ตุลาคม อนุมัติแต่งตั้งพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว. กลาโหม ในฐานะรองผอ.ศอฉ. ขึ้นเป็นผอ.ศอฉ.

หลังนายสุเทพลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยคาดว่าอาจไม่มีการแต่งตั้งรองผอ.ศอฉ. คนใหม่ อีกทั้งครม. จะมีการพิจารณาว่าจะยกเลิกหรือคงพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใน 4 จังหวัดที่เหลือ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี นั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรก็ตามนายกฯ ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษในช่วงที่เดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป ระหว่างวันที่ 3-8 ตุลาคม


ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าว การลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญ 8 จุดในกรุงเทพฯ นั้น นายถวิล กล่าวว่า

หน่วยงานด้านการข่าวมีการพูดคุยกันตลอดเวลา เพื่อประโยชน์ในการป้องกันระงับยับยั้งเหตุ แต่ไม่ขอบอกว่าเราพูดคุยกันอย่างไร ยิ่งกว่า 8 จุดอีก เราพูดคุยกันอยู่ แต่ไม่ควรไปบอกประชาชน เพราะยังไม่สามารถยืนยันได้เช่นนั้น ไม่เช่นนั้นจะทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ ส่วนจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยหรือไม่นั้น คิดว่าพล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลได้ทำงานเต็มที่ จนน้ำหนักลดไป 2-3 กิโลกรัมแล้ว


เลขาธิการสมช. กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าในเดือนตุลาคมมีวันสำคัญในเชิงการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยหลายวัน อาทิ วันที่ 6 ตุลาคม วันที่ 14 ตุลาคม จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง แต่คิดว่าคงไม่มีอะไร น่าจะมีการแสดงออกในทางการเมือง

ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ระบุว่าอาจจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นั้น ศอฉ. ไม่มีอำนาจหน้าที่อนุญาตให้ใครชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย แต่ทางทีดีคือในช่วงนี้มีหลายเรื่องยุ่งๆ หากทำให้เกิดความสงบได้ ไม่เกิดเหตุอะไร ก็เป็นเรื่องที่ดี

อย่างไรก็ตาม ศอฉ.จะเฝ้าระวังหากมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เพราะบอกไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุแทรกซ้อนอะไรขึ้นหรือไม่



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์