นายกฯ เผยเร่งผลักดันกม.นิรโทษกรรมผู้ครอบครองอาวุธสงครามเข้าสู่สภาโดยเร็ว หวังลดเหตุบึ้มรายวัน ยอมรับบรรยากาศการเมืองเป็นเหตุ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ารายงานเหตุการณ์ความไม่สงบต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) อีกทั้งมีการตั้งศูนย์บริหารเหตุการณ์ร้ายแรงว่า ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่น่าเป็นห่วง คงเป็นการทำกลไกต่าง ๆ ให้มีความกระชับและดูแลสถานการณ์ เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย และเท่าที่ทราบได้มีการมอบหมายคนที่จะไปทำงานเฉพาะด้าน แต่ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 ตุลาคม ตนจะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งหมดมาดูร่วมกับนายสุเทพ
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องเข้มงวดดูแลในเรื่องการเพิ่มมาตรการและดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่สำคัญ ๆ เช่น ที่โรงพยาบาลศิริราชหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เขาทำอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้ความกระฉับกระเฉงของเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ทำเพียงแค่มีผลต่อหน้าสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องทำให้มีผลทางปฏิบัติ เพราะในที่สุดเราต้องดูในส่วนที่มีผลกระทบต่อประชาชน
เมื่อถามว่าแต่เหตุระเบิดขณะนี้ยังไม่ยอมหยุด ล่าสุดเกิดเหตุระเบิดที่โรงงานในจังหวัดชลบุรี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
อย่างที่เคยพูดไว้ว่าบางทีก็ไม่เกี่ยวกับภาพรวมทั้งหมด แต่ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นอยู่ดี สำหรับเหตุระเบิดที่จังหวัดชลบุรีเจ้าหน้าที่สรุปรายงานว่าเป็นเรื่องเฉพาะและเรื่องส่วนตัวของเขาแต่เรื่องของอาวุธสงครามทั้งหมดถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการ เรื่องนี้ครม.ได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด หรือยุทธภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบ
อนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ....... ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะสามารถให้สามารถนำมาคืนได้ภายใน 60 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้วก็จะมีการเร่งรัดเข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยจะเร่งรัดให้เร็วที่สุด
ต่อข้อถามที่ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นการระบุอาวุธที่หายไปเฉพาะในส่วนของทหารหรือเป็นภาพรวมทั้งหมด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
เท่าที่ทราบน่าจะเป็นโดยรวมทั้งหมด แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาว่าจะพิจารณารายละเอียดอย่างไร ส่วนจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็ต้องดู เราต้องพยายามทุกวิถีทาง และคงไม่ใช่เครื่องมือเดียวในการแก้ไขปัญหา เพียงแต่เราต้องให้โอกาสคนที่อาจจะมีของพวกนี้อยู่ก่อน ทั้งนี้เรายังต้องเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบ ทำฐานข้อมูล ในแง่ที่มาของอาวุธที่ถูกนำมาใช้เพื่อจะได้มีความชัดเจนว่าควรจะแก้ไขตรงไหนอย่างไร
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ไม่สามารถกวาดล้างอาวุธสงครามได้สำเร็จเกิดจากอะไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงต้องถือว่าปัญหาเรื่องอาวุธสงครามมีมาตลอด เพียงแต่เมื่อสถานการณ์ และบรรยากาศบ้านเมืองเป็นอย่างนี้จึงมีการนำไปใช้กันมากขึ้นในตอนนี้ ซึ่งก็จะต้องแก้ไข