“กอร์ปศักดิ์” ชี้รัฐมั่นใจแจงต่อศาลปกครองกลางได้ ระบุกลุ่มผู้ชุมนุมฟ้องศาลได้ แต่ต้องทำตามกฎหมาย เร่งหาเวลาจัดเวที
วันนี้ 30 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง กรณีที่ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนในภาคตะวันออก ได้นำกลุ่มชาวบ้านมาชุมนุมเรียกร้องที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยอง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกประกาศประเภทกิจการรุนแรงในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดใหม่ทั้งหมด ว่า การชุมนุมสามารถทำได้แต่ ต้องไม่ผิดกฎหมาย และต้องไม่มีการปิดถนนทำให้คนอื่นเดือดร้อน รวมถึงการที่ นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ จะไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางด้วย เพราะเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน โดยรัฐบาลยืนยันว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะสามารถชี้แจง และอธิบายต่อศาลได้ว่า รัฐบาลไม่ได้ละเลยในเรื่องนี้แต่อย่างใด เช่น กรณีของกิจการประเภทการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินนั้น รัฐบาลไม่ได้อนุญาตให้ดำเนินกิจการอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกประกาศว่าเป็นเป็นกิจการรุนแรง เพราะการออกประกาศฯ นั้น หมายความว่ารัฐบาลได้อนุญาตให้ประกอบกิจการได้ แต่ต้องทำตามมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า นโยบายของรัฐบาลนั้น เข้มข้นจริง ๆ
“ขอยืนยันว่า การดูแลของรัฐบาลไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขตัวหนังสือเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนสบายใจ นั่นหมายความว่าต้องไม่มีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นก็จะมีการเรียกร้องรับเงินรับทองจนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอีก แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้องปฏิบัติได้จริงเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ตนเองในฐานะเลขาธิการนายกฯ กำลังจัดเวลาของนายกฯ เพื่อให้มีโอกาสขึ้นดีเบตในเรื่องนี้กับนายสุทธิ แต่เนื่องจากนายกฯ มีภารกิจมาก จึงทำได้ลำบาก แต่กำลังจัดสรรเวลา เพื่อให้มีการดีเบตร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการชุมนุมเรียกร้องในครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อนักลงทุนอีกแน่นอน เพราะนักลงทุนไม่ได้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน แต่จะพิจารณาในระยะยาว รวมถึงปัจจัยอื่นประกอบการตัดสินใจด้วย จึงเห็นได้ว่าแม้จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นมากมาย ยังมีการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาลงทุน และขยายการลงทุนในไทย หากไม่มีการเดินขบวน หรือการชุมนุมเกิดขึ้นเลย ถือว่าจะทำให้นักลงทุนกังวลมากกว่า เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่การเรียกร้องทั้งหมดต้องไม่ผิดกฎหมาย
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การออกประกาศประเภทกิจการรุนแรงทั้ง 11 ประเภทกิจการของรัฐบาลนั้น ทำให้อุตสาหกรรมไทยไม่เติบโต ยืนยันว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยมาผิดทาง ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาเป็นการเฉพาะ และต้องไม่เป็นอุตสาหกรรมที่รุนแรงไม่ใช่พัฒนาทุกอุตสาหกรรม เช่น กรณีของการลงทุนเหล็กต้นน้ำ หากมีการลงทุนแล้ว รัฐบาลต้องจัดสรรเงินงบประมาณจำนวนมากไปดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่คุ้มมูลค่าการลงทุน ขณะที่ ไทยมีจุดแข็งในเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องของเกษตร ทำไมไม่หันมาเน้นเรื่องเหล่านี้
“สิ่งเหล่านี้ ต้องกลับมาคิดมาทบทวนกันใหม่ ต้องดูภาพรวมทั้งหมดให้ชัดเจนว่า จะพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปในทิศทางใด ซึ่งถือเป็นเรื่องทางการเมืองที่สำคัญที่ต้องร่วมกันตัดสินใจว่า จะมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างไร โดยอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจแน่นอน ขณะที่ อุตสาหกรรมการส่งออกนั้น เป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องมาพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมให้ชัดเจน ว่าไทยเก่งในอุตสาหกรรมใด เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และไม่เก่งในอุตสาหกรรมใด เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ชัดเจน หากทำเรื่องนี้ ให้เกิดขึ้นจริงได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งแน่นอน”.