เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ลงทุนแผนธุรกิจโครงสร้างโครงข่ายโทรศัพท์ระบบ 3 จี วงเงิน 19,980 ล้านบาท ลดลงจากวงเงินเดิม 29,000 ล้านบาท โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของทีโอทีด้วยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และจะมีการปรับปรุงสถานีให้บริการ 3จี จาก 4,700 สถานี ให้เพิ่มเป็น 5,400 สถานี โดยจะครอบคลุมพื้นที่กทม.และจังหวัดอื่น ๆ รวม 12-15 จังหวัด และน่าจะได้เห็นภายใน 6 เดือน
"โครงการฯ นี้ จะเริ่มพัฒนาโดยใช้โครงข่ายร่วม เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน ซึ่งจะดำเนินการเริ่มต้นใน กทม. และปริมณฑล เป็นอันดับแรก ก่อนครอบคลุมในหัวเมืองใหญ่ ซึ่งคาดว่า จะครอบคลุมประชาชน กว่าร้อยละ 80 ของประเทศ ในการใช้บริการโครงข่ายดังกล่าว"
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงไอซีที ได้ชี้แจงให้ที่ประชุม ครม.
รับทราบว่า แนวทางการประมูลระบบ 3 จี ของทีโอที ที่เปลี่ยนแปลงวิธีการประกวดราคาจากเดิมกำหนดเป็นรูปแบบ สากล ให้เป็นการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปภายในประเทศ จะสามารถช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินการได้อย่างน้อยประมาณ 60 วัน ทำให้ขั้นตอนการดำเนินงาน จะลดลงจากเดิม 150 วัน เหลือ 90 วันเท่านั้น
"ส่วนเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นเพราะเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีบริษัทชั้นนำด้านโทรคมนาคมทุกบริษัทมีผู้แทนและสาขาอยู่ในประเทศไม่ต่ำกว่า 5 ราย ดังนั้น จึงมีผู้เข้าประกวดราคาในประเทศมากเพียงพอที่จะให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และนำมาซึ่งข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาที่ดีที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อ ทีโอที ได้ ส่วนบริษัทต่างชาติ หาประสงค์ที่จะเข้ามาร่วมประมูลก็สามารถทำได้ ในรูปแบบการลงทุนร่วมกับบริษัทเอกชนในไทย"
นายวัชระ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้ทีโอทีไปจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง แผนธุรกิจ และการบริหารจัดการ
เนื่องจากได้มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องความเสี่ยงของทีโอทีในแง่ของการให้บริการ 3G เพราะเกรงว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการเปิดประมูลระบบ 3จี โดย กสทช. ที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังรับทราบข้อสังเกตของกระทรวงการคลังว่าการตัดสินใจลงทุนดังกล่าวถือเป็นการลงทุนให้บริการเชิงพาณิชย์ กระทรวงการคลังจึงไม่รับค้ำประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย