ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาดูจะ “คึกคัก” ที่สุด เป็นความ “คึกคัก” หลังผ่านเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19 พฤษภาคม มาได้ 4 เดือน
คำว่า “ปรองดอง” ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อธิบายทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ดูแล้วแทบไม่มี “ฝ่ายใด” ไม่เอาด้วยกับแนวทางการปรองดอง แต่ “ทุกฝ่าย” ที่เห็นด้วย กับแนวทางการปรองดองนี้ มีรูปแบบ วิธีการ และกระบวนการ “ปรองดอง” ที่แตกต่างกัน
เริ่มที่ พรรคประชาธิปัตย์ อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่าให้รอความชัดเจน “เบื้องต้น” จาก 5 คณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งขึ้น โดยเฉพาะความชัดเจนจาก 2 คณะกรรมการคือ คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงและคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไข “กติกา” ที่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย โดย นายเนวิน ชิดชอบ ผู้สนับ สนุนหลักอย่างเป็นทางการของพรรค ประกาศเดินหน้าขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนเพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเชื่อว่าจะเป็นการเอาฟืนออกจากไฟ หรือพูดง่าย ๆ คือ ใครก็ตามที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไม่ว่าจะสีไหน ควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ขณะที่ผู้บงการ ผู้สั่งการ ผู้ก่อการ ผู้จ้างวานเหล่านี้ ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
ร่าง พ.ร.บ.ของพรรคภูมิใจไทยไม่รวมคดีทางการเมือง “ตัดสิทธิ 5 ปี” ของอดีตนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 แต่อย่างใด
หันมาที่พรรคชาติไทยพัฒนา ล่าสุดนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ประกาศร่วมหัวจมท้ายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับพรรคภูมิใจไทย ขณะที่อีกส่วน “เสธ.หนั่น” หรือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนาก็ประกาศเดินหน้าเป็น “คนกลาง” เพื่อให้เกิดการพูดคุยขึ้นในทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายสีแดงผ่านทางนายวีระ มุสิกพงศ์ ฝ่าย “สีเหลือง” ผ่านทางนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตย
สุดท้ายพรรคเพื่อไทย ที่วันนี้ “ชัดเจน” ว่าไม่เอาด้วยกับแนวทาง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นอกจาก “ไม่เอา” แล้วยังเปิดประเด็นใหม่ทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กจิ๋ว” หรือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาตั้งข้อ สังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยนี้หวังที่จะช่วยเหลือนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 บางคน เท่านั้น ขณะที่ “มวลชน” อย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน แกนนำคนเสื้อแดง ประกาศว่าหากถึงตอนที่ร่างกฎหมายนี้ได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไร จะนำมวลชนคนเสื้อแดงมาปิดล้อม
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ การที่พรรคเพื่อไทยจัดตั้งศูนย์เยียวยาคนตายในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองด้วยการให้นายจตุพรเป็นประธาน ถือเป็น “วิธีการ” ตรึงมวลชนไม่ให้ถูก ดึงออกไป การประกาศว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะจ่าย ให้ศพละ 10 ล้านบาท ก็เป็น “วิธีการซื้อใจ” มวลชนอย่างหนึ่งเท่านั้น
ท่ามกลางข่าวความปรองดอง ก็มีการคาดการณ์เกี่ยวกับผลของคดียุบพรรค 29 ล้านของพรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้ “ฝ่ายตรงข้าม” สร้างกระว่า “ยุบ” แน่นอน และมองเลยไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง และผูกโยงเข้ากับการเคลื่อนไหวของ พล.ต.สนั่น
ปรองดอง ที่ยังไร้ รูปธรรม กับการช่วงชิงกระแสการเมือง
ความน่าสนใจวันนี้อยู่ตรงที่ว่า สถานการณ์ใหม่ที่ทุกฝ่าย ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองจะนำสู่ความปรองดองทางการเมืองที่ทุกฝ่าย “ฝัน” หรือไม่ยังไม่มีใครตอบได้ แต่ตราบใดที่สถานการณ์ยังเป็นการ “ชิงเหลี่ยม” ทางการเมืองก็เชื่อว่าการปรองดองก็เป็นแค่คำ ๆ หนึ่งในทางการเมืองที่หา “รูปธรรม” อะไรไม่ได้
แต่หากดูความน่าจะเป็นที่เป็นไปได้มากที่สุด ต้องจับตาที่พล.ต.สนั่น มีหลายเหตุผลที่คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น
ประการแรก ความเป็นนักการเมืองมือเก่า เป็นมือประสานสิบทิศทางการเมืองมาก่อน รู้สึกและมีเครือข่ายทางการเมืองที่จะพูดจากับฝ่ายต่าง ๆ ได้
ในพรรคเพื่อไทย อย่าง นายยงยุทธ ติยะไพรัช มือขวา พ.ต.ท.ทักษิณ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ หรือ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ขณะที่เสื้อแดงก็อย่างนายวีระ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกัน ขณะที่เสื้อเหลืองก็มีเพื่อน จปร.7 อย่าง “มหาจำลอง” หรือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ หรือแม้แต่พรรคขนาดเล็กอย่างพรรคชาติไทยพัฒนาของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคเพื่อแผ่นดินกลุ่ม พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก หรือกลุ่ม 3 พี อย่าง นายพินิจ จารุสมบัติ ล้วนแล้วแต่สนิทสนมกันมาก่อน
ยังไม่รวมไปถึงทหารเก่าไม่เคยตาย อย่าง พล.ต.มนูญ กฤต รูปขจร หรือ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ผู้อำนวยการเลือกตั้ง จ.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็มี ส.ส.บางส่วนที่เคยสังกัดบ้านสนามบินน้ำครั้ง เสธ.หนั่นเป็นเลขา ธิการพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน
เป็น “คอนเนคชั่น” ที่หาได้ยากในยามที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน
ประการต่อมา ภาพทางการเมืองของ พล.ต.สนั่น นั้นออกไปในทางกลาง แม้จะสังกัดพรรคประชาธิปัตย์แต่การย้ายพรรคไปสังกัดพรรคชาติไทย ก่อนถูกยุบพรรคแล้วเปลี่ยนมาเป็นพรรคชาติไทยพัฒนานั้น บอกชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เสธ.หนั่นกับผู้บริหารพรรคอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือการได้อยู่พรรคชาติไทยพัฒนาซึ่งเป็นพรรคที่สังกัดรัฐบาลมาแล้ว ตั้งพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ พูดง่าย ๆ ว่าผ่านมาแล้วทั้ง 2 ขั้ว
นี่อาจจะเป็น “คุณลักษณะสำคัญ” ที่น่าทำให้การเมืองต้องกลับมาคุยกัน
ปัญหาในเวลานี้คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คิดอย่างไรกับการเคลื่อนไหวของ พล.ต.สนั่นในครั้งนี้ จะเอาด้วยหรือจะไม่เอา
ล่าสุด นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ออกมาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมพูดคุยหากทุกฝ่ายจริงใจไม่เอาเรื่อง “ปรองดอง” มาเป็นเกมทางการเมืองหรือหวังผลจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์
“จากการพูดคุย พ.ต.ท.ทักษิณยังย้ำว่าพร้อมจะสนับสนุนให้เกิดความปรองดองในชาติ แต่การปรองดองต้องไม่ใช่การทอดทิ้งพี่น้องประชาชนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุม และต้องไม่ใช่การคลานเข้าไปขอปรองดอง แต่ต้องปรองดองบนศักดิ์ศรี บนความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกัน”
ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนออกมาจากปากของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า จะปรองดองกันนั้น ต้องเริ่มที่อะไรก่อน เริ่มอย่างไร มีเพียงแต่คำพูดกว้าง ๆ ว่า ต้องเป็นธรรม ต้องเท่าเทียมเท่านั้น
เชื่อว่าสภาพการเมืองในช่วง 3 เดือนจากนี้ (ตุลาคม- พฤศจิกายน-ธันวาคม) จะเป็นการเมืองในลักษณะสร้างกระแส ชิงความนิยมและเปิดประเด็นหาเสียงทางการเมือง เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อรอความชัดเจนจากคดี “ยุบพรรคประชาธิปัตย์”
ต้องไม่ลืมว่า ที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าความชัดเจนคงมีขึ้นไม่เกินเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ หากเป็นไปในทางหนึ่งทางใด ก็ยังมีอีก “ดาบ” ที่พรรคเพื่อไทยรอไว้นั่นคือการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งก็น่าจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายพอสมควร
สภาพการเมืองที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ยังไม่มีอะไรที่ไกลไปกว่าแค่ใช้ คำว่า “ปรองดอง” เคลื่อนไหวทางการเมือง.