ศาลสั่ง หญิงอ้อ คืนที่รัชดา

ศาลแพ่งพิพากษานิติกรรมซื้อขายที่ดินรัชดาฯ เป็นโมฆะ สั่ง “หญิงอ้อ” คืนที่ดิน 4 แปลง พร้อมให้กองทุนฟื้นฟูฯชำระเงิน 772 ล้านบาท แถมดอกเบี้ยย้อนหลัง 7.5 ต่อปี  คืนอดีตภรรยา “ทักษิณ” ชี้เป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซื้อมีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย
   
ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่  24 ก.ย. ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ 5379/2552 ที่ นายพศิน ทิพยรักษ์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีแพ่ง รับมอบอำนาจจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย เรื่องโมฆะกรรม ขอให้ศาลเพิกถอนรายการจดทะเบียนขายโฉนดที่ดินรัชดาภิเษก 4 แปลง จำนวน 33 ไร่เศษ มูลค่า 772 ล้านบาท และให้ส่งมอบการครอบครองที่ดินคืนขณะที่คุณหญิงพจมาน ฟ้องแย้งในสำนวนเดียวกัน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กองทุนฟื้นฟู คืนเงินซื้อขายที่ดิน จำนวน 772 ล้านบาท พร้อมด้วยค่าเสียหาย ค่าออกแบบอาคารที่จะก่อสร้างจำนวน 39 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่นัดชำระ
   
อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 46 คุณหญิงพจมาน จำเลย เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมากองทุนฯ ประกาศให้เป็นผู้ชนะในการซื้อที่ดิน 4 แปลง ในราคาสูงสุดเป็นเงิน 772 ล้านบาท

โดยกองทุนฯ และคุณหญิงพจมาน จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 46 และได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับคุณหญิงพจมาน จำเลยในวันที่ 30 ธ.ค. 46 โดยสัญญาซื้อขายที่ดินมีข้อความว่า กองทุนฯ โจทก์ ผู้ขายตกลงยอมขาย และคุณหญิงพจมาน จำเลย ผู้ซื้อตกลงยอมซื้อ แต่ต่อมาภายหลังจากทำสัญญาซื้อขาย คุณหญิงพจมาน จำเลย และ พ.ต.ท.ทักษิณ สามีถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จากกรณีที่ คุณหญิงพจมาน จำเลยคู่สมรสของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าเป็นคู่สัญญาทำสัญญาซื้อขายที่ดิน 4 แปลง กับกองทุนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีใน  ขณะนั้น  ต่อมาวันที่ 17 ก.ย. 51 ศาลฎีกาฯ    มีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดให้จำคุก 2 ปี
   
การที่คุณหญิงพจมาน จำเลยเสนอตัวเข้ายื่นซองจนชนะการประกวดและเข้าทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินกับกองทุนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงาน   ของรัฐที่นายกฯ เป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแล โดยคุณหญิงพจมาน

จำเลย รู้และตระหนัก ดีว่าตนเองเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นการเข้าทำนิติกรรม สัญญาย่อมเป็นการทำโดยมีวัตถุประสงค์ ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัว ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 100 เมื่อคุณหญิงพจมาน จำเลย มีเจตนาจงใจเข้าทำนิติกรรมสัญญาทั้งที่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 4 แปลง จึง    ตกเป็นโมฆะทันที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ซึ่งมีผลทำ ให้การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินวันที่ 30 ธ.ค. 46 ระหว่างกองทุนฯ โจทก์ กับคุณหญิงพจมานจำเลย เป็นอันสิ้นผล ไม่มีผลบังคับใช้ไปด้วย คุณหญิงพจมาน จำเลย จึงมีภาระต้องดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดิน สาขาห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ทำการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินและให้ส่งมอบคืนต้นฉบับโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลง ที่ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วให้กับกองทุนฯ พร้อมทั้งต้องส่งมอบการครอบครองที่ดินในสภาพสมบูรณ์เช่นเดิมโดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น
   
โดยกองทุนฯ โจทก์ เคยมีหนังสือแจ้งให้คุณหญิงพจมาน จำเลย ดำเนินการ แต่ยังไม่ดำเนินการเมื่อกองทุนฯ โจทก์   ไม่มีวิธีอื่นบังคับจึงต้องนำคดีมาฟ้อง

และขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน 4 แปลงระหว่างกองทุนฯ โจทก์ กับคุณหญิงพจมาน จำเลย ตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย และให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินวันที่ 30 ธ.ค. 46 พร้อมทั้งให้นำต้นฉบับโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลง คืนให้กองทุนฯ โจทก์ โดยให้คุณหญิงพจมาน จำเลย เป็นผู้เสียค่า  ธรรมเนียมและภาษีพร้อมค่าทนายความ หากไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแพ่งเป็นการแสดงแทนเจตนาคุณหญิงพจมาน จำเลยดำเนินการส่งโฉนดคืนแก่กองทุนฯ
   
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่าประเด็นข้อที่ 1 ว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกองทุนฯ กับคุณหญิงพจมาน เป็น   โมฆะหรือไม่ วินิจฉัยว่า การที่คุณหญิงพจมาน เป็นภรรยาโดยชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่มีการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท ถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การกระทำนิติกรรมซื้อขายที่ข้อพิพาท ระหว่างกองทุนฯ และคุณหญิงพจมาน การดำเนินการดังกล่าวของคุณหญิงพจมาน ถือเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องห้ามมิให้กระทำตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องการและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) คุณหญิงพจมาน จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม ในการเป็นคู่สัญญาทำนิติกรรมกับกองทุนฯ โดยผลของกฎหมาย นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท ทั้ง 4 แปลง ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
   
ประเด็นข้อพิพาทที่ 2 เมื่อฟังว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ กองทุนฯมีสิทธิเรียกที่ดินคืนจากคุณหญิง พจมาน หรือไม่ และกองทุนฯจะต้องคืนเงินราคาที่ดินให้แก่คุณหญิงพจมานหรือไม่ มีคำวินิจฉัยว่า นิติกรรมที่เป็นโมฆะ ถือว่าเสียเปล่าใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ต้น ไม่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ และหน้าที่ของคู่กรณี การที่กองทุนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงให้คุณหญิงพจมาน หรือการที่คุณหญิงพจมาน ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่กองทุนฯ เป็นกรณี    ที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับทรัพย์สิน เพราะการที่อีกฝ่ายหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ โดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมายได้ ทั้งสองฝ่ายจึงมีหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ได้รับไปจากอีกฝ่ายหนึ่ง คุณหญิงพจมาน มีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาท ทั้ง 4 แปลง คืนให้แก่กองทุนฯ ส่วนกองทุนฯ มีหน้าที่คืนเงินค่าที่ดินที่รับไว้จากคุณหญิงพจมานทั้งหมด และต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ คุณหญิงพจมาน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ คุณหญิงพจมาน ยื่นคำให้การ และฟ้องแย้ง  เป็นต้นไป
   
ศาลแพ่งจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอน การจดทะเบียน นิติกรรมการซื้อขายที่ดิน โฉนดที่ดิน เลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. ระหว่างกองทุนฯและคุณหญิงพจมาน ให้คุณหญิงพจมาน ส่งมอบการครอบครองที่ดินทั้ง 4 แปลง คืนให้แก่กองทุนฯ และให้กองทุนฯ ชำระเงินจำนวน 772 ล้านบาท คืนให้แก่คุณหญิงพจมาน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 25 พ.ย. 52 ซึ่งเป็นวันฟ้องแย้งเป็นต้นไป
   
ด้านนายพลพีร์ ตุลยสุวรรณ ทนายความคุณหญิงพจมาน กล่าวว่า จะแจ้งผลคำพิพากษาให้คุณหญิงพจมาน ทราบต่อไป เข้าใจว่าคุณหญิงพจมาน จะพอใจกับผลคำพิพากษาที่ศาลให้กองทุนฯ คืนเงินค่าซื้อที่ดิน ส่วนที่ศาลไม่ได้กำหนดให้กองทุนต้องชำระค่าออกแบบอาคารที่จะก่อสร้างในที่ดินที่คุณหญิงพจมานระบุไว้ในคำฟ้องแย้งจำนวน 39 ล้านบาทนั้น คิดว่าคุณหญิงพจมาน คงไม่ติดใจประเด็นนี้ ทั้งนี้หากกองทุนฯ ติดใจในผลคำพิพากษา สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายตนไม่หนักใจอะไร พร้อมจะต่อสู้คดี หากจะมีการอุทธรณ์คดีจริง กองทุนฯ จะต้องนำเงินซื้อขายที่ดิน 772 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจนถึงขณะนี้คิดเป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท นำมาวางเป็นเงินประกันต่อศาลไว้ด้วย
   
ขณะที่อัยการที่ได้รับมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดีนี้ กล่าวเพียงว่า ต้องนำคำพิพากษาทั้งหมดไปมอบให้กองทุนฯ เพื่อพิจารณาต่อไปว่าจะประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คดีอีกหรือไม่.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์