กลาโหมหวั่นภัยคุกคาม สั่งกองทัพพร้อมรบ

โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุ กองทัพหวั่นปัญหาชายแดน สั่งพร้อมลุยทั้งทหาร-อาวุธ เน้นจัดทำแผนพัฒนาขีดความสามารถปี 2554-63 ป้องภัยคุกคาม


เมื่อวันที่ 23 ก.ย. พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นประธานในที่ประชุมว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงการพัฒนาขีดความสามารถของกระทรวงกลาโหม โดยขณะนี้กระทรวงกลาโหมได้ส่งกองกำลังไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ 2 ส่วนคือ การจัดหมู่เรือปราบโจรสลัดไปปฏิบัติหน้าที่ในอ่าวเอเดน และ ชายฝั่งโซมาเลีย ซึ่งได้ออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา และการส่งกองกำลังเฉพาะกิจ 980 ไทย/ดาร์ฟู ปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพผสมระหว่างสหภาพแอฟริกาและสหประชาชาติในดาร์ฟู ประเทศซูดาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ทางเรือ

“สถานการณ์ด้านชายแดนยังมีความไม่แน่นอนสูง กองทัพจึงต้องเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล และพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มีความทันสมัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ทั้งภัยคุกคามแบบดั้งเดิม และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้ทั้งภายในประเทศ และปฏิบัติภารกิจร่วมกับมิตรประเทศได้ ซึ่งเรื่องนี้ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ จัดทำแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหมปี 2554-2563 (Modernization Plan:Vision 2020 ) ไปแล้ว จึงขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ได้เร่งรัดการดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย” พ.อ.ธนาธิป กล่าว 

นอกจากนี้ พ.อ.ธนาธิป ยังกล่าวถึงโครงการจัดหารถเกราะล้อยาง BTR-3E1 จากประเทศยูเครน ที่เกิดข้อครหาในหลายด้าน เช่น รถผลิตเป็นรถเก่า แต่กลับมาทำใหม่ ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานหลายด้าน ไม่มีความน่าเชื่อถือว่าสามารถผลิตรถได้เอง รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็นต้น จากปัญหาต่างๆ ได้มีการร้องเรียนยังคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯได้ตรวจสอบโครงการอย่างละเอียด โดยมอบหมายให้พล.อ.พลัฎฐ์ เพ็ชรสดศิลป์ ที่ปรึกษา และอดีตเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปประเทศยูเครน เพื่อตรวจสอบข้อมูลยังโรงงานผู้ผลิต 

“ภายหลังจากการศึกษาดูงานคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงมีข้อสรุปคือ รถเกราะรุ่นดังกล่าวผลิตในยูเครนทั้งคัน ยกเว้นเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังบำรุง แต่จากการเยี่ยมชมโรงงานพบว่า ได้มีการสร้างตัวถังและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการประกอบรถจริง โดยมีการแบ่งส่วนการผลิตหลักทั้งหมด 8 โรงงาน จากนั้นมาประกอบในโรงงานที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ เป็นเครื่องยนต์เอ็มทียูที่ผลิตจากประเทศเยอรมัน ตรงตามที่กองทัพได้แจ้งไว้ในครม. เช่นเดียวกับระบบส่งกำลังบำรุงที่เป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา ตรงตามที่แจ้งไว้ในครม.” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว 

พ.อ.ธนาธิป กล่าวอีกว่า จากการตรวจเยี่ยมชมโรงงานที่ผลิตระบบควบคุมเสถียรของการยิง พบว่า โรงงานประเทศยูเครนมีขีดความสามารถและเทคโนโลยีในการผลิตที่น่าเชื่อถือได้ และโรงงานเป็นเจ้าของเทคโนโลยีทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก ทั้งนี้จากการเดินทางไปตรวจพื้นที่และตรวจการผลิต ยืนยันว่า เครื่องยนต์ใหม่ที่มีการเปลี่ยน มีประสิทธิภาพมากกว่า เครื่องยนต์เดิม และมีสมรรถนะที่ดี เพราะใช้อย่างแพร่หลายในประเทศแถบยุโรป แถมอุปกรณ์บางชิ้น ในประเทศไทยมีใช้แล้ว ส่วน 2 คันที่ได้รับมาแล้ว คงจะนำมาใช้งานขั้นต้นว่ามีปัญหาข้อขัดข้องอะไรบ้าง และคงมีการรับมอบอีกส่วนหนึ่งในช่วงเดือนธันวาคมนี้

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์