"มาร์ค"ย้ำ"นิรโทษฯ"ไม่เร่งด่วน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธกรณีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ระบุจะเร่งบรรจุร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับใหม่ให้แก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 พ.ศ... เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเร่งด่วน โดยให้สัมภาษณ์ภายหลังออกรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) เมื่อเช้าวันที่ 19 กันยายนว่า "ยังหรอกครับ เพราะเรื่องอยู่ที่คณะกรรมการประสานงาน (วิปรัฐบาล) ซึ่งก็มีท่าทีชัดเจนว่าเรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาล ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ถือว่าเรื่องของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ ที่สำคัญวิปได้คุยกันแล้วเรื่องน่าจะจบ"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาที่เห็นไม่ตรงกันจะกลายเป็นปัญหากับทาง ภท.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องพูดคุยกัน
เมื่อถามว่าถึงขั้นต้องนัดเคลียร์ใจกับแกนนำ ภท.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำว่ายังไม่มีอะไร เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำภท.บ้างหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่ายังไม่ได้คุย ที่ผ่านมาพูดคุยกับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิไทย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการพูดคุยถึงปัญหาในกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น
ดักคอ"ภท."ช่วยคนๆเดียวไม่ได้
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้โพสท์ข้อความเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเสียสละและเร่งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในทวิตเตอร์ ว่า ยังไม่ได้อ่านข้อความในทวิตเตอร์ของ พ.ต.ท.ทักษิณและยังไม่ทราบว่ามีการตั้งเงื่อนไขอะไร เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมาและขอให้เสียสละเพื่อสร้างความปรองดองในชาติ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ก็ดีครับ"
เมื่อถามว่าจะเข้าทาง ภท.ที่พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบันหรือไม่
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบเลยว่าความผิดที่ว่าหมายถึงความผิดอะไร และบางทีในข้อกฎหมายก็พูดกันไปจนนึกว่านึกจะนิรโทษกรรมอะไรใครอย่างไรก็ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น บางเรื่องไม่ใช่ความผิดทางอาญา บางเรื่องเป็นความผิดเกี่ยวกับบุคคลคนเดียว จะไปนิรโทษกรรม หรือออกกฎหมายให้กับตัวบุคคลทำไม่ได้
"ที่สำคัญอย่างที่ผมย้ำว่าเราต้องนึกถึงการรักษากฎหมายด้วย ผมคิดว่าการให้กระบวนการทางกฎหมายเดินเพื่อที่เราได้แสดงออกถึงความเป็นนิติรัฐมีความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าหากถึงจุดนั้นแล้วมีมาตรการอะไรจะมาช่วยกันผ่อนปรนความรู้สึกหรือผลกระทบต่างๆ สามารถทำได้ มากกว่าที่จะพยายามบอกว่าคนผิดไม่ผิด แล้วก็แล้วๆ กันไปเป็นวิธีการปรองดอง" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ปรองดองจริงยุติปลุกเกลียดชัง
เมื่อถามว่า กับข้ออ้างว่าเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้วควรหันมาร่วมสร้างความปรองดอง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่การปรองดองถ้าบอกว่าเรื่องผ่านไปแล้วก็หมายความว่าทุกฝ่ายต้องยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่ผ่านมาอีก วันนี้สิ่งที่จำเป็นต้องร่วมกันทำมากที่สุดในขณะนี้คือต้องไม่มีเรื่องของความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ทางการเมือง หรือในทางอื่นๆ ถ้าเริ่มต้นจากจุดตรงนี้ได้ตนคิดว่าอะไรก็ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นการแสดงท่าทีที่ชัดในเรื่องการช่วยกันยุติความรุนแรง ยุติปมที่เป็นประเด็นความขัดแย้งในสังคม ไม่สร้างความเกลียดชังเกิดขึ้น แต่ถ้าบอกว่าอยากจะปรองดองแต่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไป มันก็ไม่ใช่ความปรองดองอย่างแท้จริง