นักวิชาการเชื่อว่ารัฐประหารปี 49 ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ตราบที่สังคมยังเรียกร้องให้ทหารออกมาแก้ปัญหาของประเทศ
วันนี้ (19 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย เรื่อง “19 กันยา..4 ปี กับการปฏิรูปกองทัพไทย” โดยมี พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมเสวนา
พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กองทัพอยากได้กฎหมายด้านความมั่นคงมารองรับการปฏิบัติงาน
ทั้งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้กองทัพต้องเผชิญหน้ากับประชาชนแทนตำรวจ ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน แม้บางครั้งไม่อยากทำ แต่เมื่อถูกรัฐบาลสั่งก็ต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันยังไม่เชื่อว่า การทำรัฐประหารปี 2549 จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะที่ผ่านมาสังคมบางส่วนยังถามหาการรัฐประหารโดยตลอด ทั้งที่การรัฐประหารไม่ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น โดยเฉพาะหากบริหารจัดการไม่ดี จะยิ่งสร้างความเลวร้ายให้บ้านเมือง
“หากจะปฏิรูปรูปแบบของกองทัพจะต้องเป็นกองทัพที่มีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรปรับยุทธศาสตร์ที่คิดเพียงแต่การรบมาเป็นระบบอื่นควบคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีมากขึ้น ผมเห็นว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กองทัพน่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนทั้งจากงบประมาณและอาวุธ แต่บทบาทของกองทัพกลับแย่ลง มีปัญหาต่างๆ ตามมามาก จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว” พล.อ.เอกชัย กล่าว
ด้านนายสุรชาติกล่าวว่า ปัจจุบันคนไม่กลัวรัฐประหาร เมื่อการเมืองถึงทางตัน สังคมยังเรียกร้องให้ทหารออกมาทำหน้าที่
ซึ่งเป็นเรื่องไม่สิ้นสุดของประเทศไทย จุดเปลี่ยนของกองทัพคือสังคมและปัญญาชนในกรุงเทพมหานคร ไม่ทำหน้าที่หาทางออกให้บ้านเมือง แต่เรียกร้องให้ทหารมาทำหน้าที่คลี่คลายปัญหา จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา สังคมแตกแยก อีกทั้ง การรัฐประหารเป็นการทำลายสายการบังคับบัญชาของกองทัพ ทั้งการเลื่อนยศและปรับย้ายที่ไม่มีหลักเกณฑ์ เนื่องจากในอดีตการเลื่อนตำแหน่งต้องตัดสินบนพื้นฐานความสามารถ ดังนั้น ถ้าต้องการปฏิรูปกองทัพ ต้องปฏิรูปการเมืองควบคู่ขนานกันจึงจะสำเร็จ และหากจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งให้ดี ก็จะเป็นการสร้างกองทัพที่เป็นประชาธิปไตยได้มากขึ้น
น.ส.ชลิดาภรณ์กล่าวว่า ถ้าทหารต้องการจะยึดอำนาจจนถึงขณะนี้ก็ยังทำสำเร็จ แต่จะมีปัญหาในการครองอำนาจที่ล้มเหลว
เพราะระบบการเมืองที่ซับซ้อน จึงทำให้ระบบของกองทัพบกที่ผ่านมา มีบทบาทในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ส่งผลให้มีปรากฏการณ์ทหารเลือกข้าง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น มีการแบ่งแยกมิติต่างๆ ระบบการเกณฑ์ทหารที่มีแต่ชนชั้นล่าง และชั้นสัญญาบัตรกับทหารชั้นล่างก็มีการแบ่งแยกสูง ไม่ต่างกับสังคมโลกภายนอก ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำยังทำให้เกิดการแบ่งเป็นกลุ่มในกองทัพ ซึ่งสังคมได้ตั้งคำถามบทบาทหน้าที่ของกองทัพต่อการใช้ความรุนแรง การชุมนุมประท้วงและความขัดแย้งทางการเมือง.