เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าคคดีก่อการร้าย ว่า หลังจากดีเอสไอได้ตัวนายจักรชลัชหรือพล คงสุวรรณ คนขับรถพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็นพยานในคดีก่อการร้าย และนำตัวเข้าสู่การคุ้มครองพยานในมาตรการพิเศษ ซึ่งนายจักรชลัชได้ให้การที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง มีข้อมูลเชื่อมโยงไปยังบุคคลหลายส่วน นอกจากนี้นายจักรชลัช ยังได้นำชี้จุดที่มีการนัดพบเพื่อวางแผนการก่อเหตุความไมสงบของกลุ่มชายชุดดำและจุดที่เป็นสถานที่รับเงินสนับสนุนให้ก่อความไม่สงบ
อย่างไรก็ตาม นายจักรชลัชได้สมัครใจขอรับการคุ้มครอง โดยให้นำตัวไปไว้ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง โดยไม่ประสงค์จะพักอาศัยในเซฟเฮาส์ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยเพราะกลัวว่าจะถูกฝ่ายตรงข้ามฆ่าปิดปาก ซึ่งในส่วนของดีเอสไอได้จัดพนักงานสอบสวนตามประกบเพื่อให้การดูแลรักษาความปลอดภัยและร่วมฟังการสอบปากคำนายจักรชลัชโดยตลอด
ด้านพ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีระเบิดพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ภายหลังดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 6ราย ที่ร่วมกันประกอบวัตถุระเบิดและนำไปใช้ก่อเหตุด้านข้างพรรคภูมิใจไทยนั้น ทางด้านการสอบสวนยังไม่มีข้อมูลจะขยายผลไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งกรณีที่มีการระบุว่ามีความเชื่อมโยงไปถึงนักการเมืองนั้นก็เป็นเพียงรายงานข่าวที่ไม่สามารถหาข้อมูลมาสนับสนุนได้ เพราะจากการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิเสธไม่ขอให้การพาดพิงบุคคลอื่น โดยรับสารภาพเพียงในส่วนที่ผู้ต้องหาแต่ละรายได้กระทำความผิด เช่น นายสุริยา ภูมิวงศ์ ผู้ต้องหารายล่าสุดที่ถูกจับกุมได้ก็ให้การรับสารภาพเพียงว่า ได้ใช้บ้านของนางวริศรียา หรืออ้อ บุญสม เป็นสถานที่ประกอบระเบิด ซึ่งคำให้การในส่วนนี้ไปเสริมรับกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสอบพบสารประกอบระเบิด หรืออาร์ดีเอกซ์ ในบ้านของนางวริศรียา ทำให้หลักฐานในคดีค่อนข้างแน่นหนา
พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าวต่อว่า การขยายผลไปถึงผู้บงการค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แม้ว่าก่อนหน้านี้นายกอบชัย หรืออ้าย บุญปลอด จะระบุให้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์จากซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือเพื่อขยายผลไปยังบุคคลอื่น แต่จากการตรวจสอบกลับไม่พบข้อมูลเชื่อมโยงถึงกลุ่มบุคคลที่ทางการข่าวระบุว่าเป็นคีย์แมนในการวางแผนก่อเหตุร้าย เนื่องจากซิมการ์ดที่ยึดได้เป็นซิมการ์ดโทรศัพท์ที่จดทะเบียนใช้ในประเทศกัมพูชา จึงไม่สามารถร้องขอให้ตรวจสอบข้อมูลการติดต่อสื่อสารได้
ส่วนซิมการ์ดโทรศัพท์ที่นางวริศรียาและนายกอบชัย เคยใช้ในประเทศไทย ผู้ต้องหาได้หักทิ้งก่อนจะเดินทางหลบหนีไปประเทศกัมพูชา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ติดต่อไปยังบริษัทผู้ให้บริการแล้ว แต่ได้อ้างว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นโทรศัพท์ในระบบเติมเงิน ไม่ได้จดทะเบียน ดังนั้น บริษัทจึงเก็บข้อมูลไว้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น