ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 10 กันยายน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
ได้เชิญพล.ต.ท. อาจิณ โชติวงศ์ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผบช.ก.ตร.) ในฐานะเลขานุการก.ตร. มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน กรณีก.ตร. มีมติแต่งตั้งพล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) หลังสถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์รวม 3 ฉบับ เพื่อแสดงความกังวลกรณีดังกล่าว เนื่องจากพล.ต.ท. สมคิดตกเป็นผู้ต้องหาในคดีการหายตัวของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2533
ทั้งนี้ นายสุเทพได้นำเอกสารสรุปข้อเท็จจริงกรณีการแต่งตั้งพล.ต.ท. สมคิด ซึ่งมีความยาว 5 หน้ากระดาษเอสี่ มาแจกจ่ายสื่อมวลชน โดยเป็นการสรุปสาระสำคัญในบันทึกคำชี้แจงที่นายสุเทพเตรียมส่งให้สถานทูตซาอุฯ
นอกจากนี้ ยังแนบสำเนาเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 5 ฉบับมาด้วย
ประกอบด้วย 1. หนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ลงนามโดยนายปรีดี จุลเจิม หัวหน้าพนักงานอัยการ กองคดีอาญากรุงเทพใต้ อสส. ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2536 ซึ่งทำถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ เพื่อแจ้งว่าอสส. มีคำสั่งไม่ฟ้องพล.ต.ท. สมคิดในคดีดังกล่าว 2. หนังสือหารือการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ซึ่งพล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทนผบ.ตร. ทำถึงก.ตร. 3. หนังสือแจ้งมติคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจ (อ.ก.ตร.) กฎหมาย ซึ่งพล.ต.ต. เมธา ปิ่นนิกร ผู้ช่วยเลขานุการก.ตร. ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการก.ตร. ส่งถึงผบ.ตร. 4. พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และ 5. พ.ร.บ. ล้างมลทิน พ.ศ. 2550
พล.ต.ท. อาจิณได้ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่พล.ต.ท. สมคิดถูกตั้งข้อหาเมื่อปี 2536 แต่ต่อมาพนักงานสอบสวนและอสส. มีคำสั่งไม่ฟ้อง
เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้คดีถึงที่สุด และทำให้อธิบดีกรมตำรวจ (ในขณะนั้น) สั่งยุติการดำเนินการทางวินัยด้วยเช่นกันในปี 2541 แต่ต่อมาในปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้ามารื้อคดีดังกล่าวเนื่องจากพบหลักฐานใหม่ จึงแจ้งข้อกล่าวหาพล.ต.ท. สมคิด ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ทำให้เกิดปัญหาว่าการดำเนินการทางวินัยกับพล.ต.ท. สมคิดจะทำได้หรือไม่อย่างไร สตช. จึงมอบหมายให้อ.ก.ตร. กฎหมายไปพิจารณาเรื่องนี้ โดยอ.ก.ตร. กฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่าการสั่งยุติเรื่องทางวินัยของพล.ต.ท. สมคิดก่อนวันที่พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 จะมีผลใช้บังคับ เข้ากรณีได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ. ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 สตช. จึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยแก่พล.ต.ท. สมคิดได้ แม้ปัจจุบันจะมีคดีคาอยู่ที่ศาลก็ตาม