ธปท.-แบงก์ถกเครียดกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนกล่อมให้แบงก์ลดได้แค่ค่าธรรมเนียมโอนระหว่างธนาคารเหลือ 12 บาทต่อรายการ จากเดิมสูงถึง 100 บาท มีผล 15 ธันวาคมนี้ ธปท.ฮึ่มบี้ต่อให้ยกเลิกโอนข้ามเขตให้ได้ภายในกลางปีหน้า สั่งแบงก์ตอบรายตัว 20 กันยายนนี้ หุ้นกลุ่มแบงก์ร่วงรับข่าวร้าย แต่โบรกฯมั่นใจกำไรยังโตไม่หยุด เล็งปรับเป้ากำไรปีนี้-ปีหน้าเพิ่มอีก
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 9 กันยายน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ได้หารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ถึงแนวทางการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ที่ประชุมสามารถตกลงกันได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมการโอนรายย่อย จะคิดในอัตราเดียว คือ 12 บาทต่อรายการ จากปกติธนาคารพาณิชย์จะมี 3 อัตรา ได้แก่ 12, 40 และ 100 บาทต่อรายการ
นายฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายระบบสารสนเทศ ธปท. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการระบบชำระเงินและธนาคารพาณิชย์ มีแนวทางร่วมกัน
คือ ปรับค่าธรรมเนียมการโอนอิเล็กทรอนิกส์รายย่อยระหว่างธนาคาร (NITMX BULK PAYMENT) ซึ่งปัจจุบันคิดตามวงเงินใน 3 อัตรา คือ 12 บาท สำหรับวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท และ 40 บาทสำหรับวงเงิน 1 แสนบาทขึ้นไป จนถึง 5 แสนบาท และ 100 บาท สำหรับวงเงิน 5 แสนบาทขึ้นไปจนถึง 2 ล้านบาทต่อรายการ เป็นอัตราเดียว คือไม่เกิน 12 บาท โดยสามารถโอนเงินได้ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อรายการ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ส่วนค่าธรรมเนียมตัวอื่นยังต้องมีการหารือกัน โดยเฉพาะการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนข้ามเขต ธปท.ยังยืนยันว่าต้องการให้ยกเลิกภายในไตรมาส 2 ปี 2554 โดยจะให้ธนาคารแต่ละแห่งตอบกลับความเห็นอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 20 กันยายนนี้ ซึ่งสามารถเสนอขึ้นค่าธรรมเนียมตัวอื่นเพื่อชดเชยการยกเลิกค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์
โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ได้ปรับลดลงตั้งแต่ช่วงเช้า สวนกับภาวะตลาดรวมที่ยังปิดช่วงเช้าเป็นบวก ซึ่งเป็นผลจากความกังวลจากการกดดันยกเลิกค่าธรรมเนียมข้ามเขต โดยหุ้นกลุ่มแบงก์ปิดตลาดลดลง 6.36 จุด หรือ 1.72% มากกว่าดัชนีตลาดรวมที่ปิดตลาดลดลง 2.39 จุด หรือ 0.26%
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ว่า การกดดันให้ยกเลิกค่าธรรมเนียม คาดว่าจะกระทบกำไรไม่เกิน 5% ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ และกระทบเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้สุทธิรวม 5 อันดับ คือ ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา และทิสโก้ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์นี้ นักวิเคราะห์ของ บล.เอเซียพลัสก็ยังเตรียมจะปรับเพิ่มประมาณการกำไรของกลุ่มธนาคาร ในปี 2553 และ 2554 ขึ้นจากเดิม
เพื่อสะท้อนการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบดีขึ้นกว่าสมมติฐานเดิม จากหลายประเด็น ทั้งความชัดเจนของผลการตัดสินคดีมาบตาพุด การลงทุนใน 3 จี และความคืบหน้าในการก่อสร้างสาธารณูปโภคของรัฐ พร้อมจะปรับเพิ่ม NIM เพื่อสะท้อนผลประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น