รุมจวกตร.ต้าน ผ่าโครงสร้าง!

"ยันต้องกระจายอำนาจ ตร."


ความคืบหน้าการปรับโครงสร้างตำรวจให้ขึ้นตรงกับองค์กรท้องถิ่น โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ขึ้นตรงกับผู้ว่าฯกทม. ส่วนตำรวจภูธรจังหวัดขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการปรับโครงสร้างตำรวจว่า จากการศึกษาและวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับตำรวจกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าจำเป็นต้องกระจายอำนาจตำรวจออกไป

ส่วนจะกระจายอย่างไรต้องคุยในรายละเอียดกันอีกที แต่ตามหลักการแล้วต้องเน้นที่ประสิทธิภาพ และประชาชนต้องได้รับประโยชน์ดีกว่าเดิม เช่น ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนเรื่องคดีความ ก็ต้องได้รับความยุติธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจเองต้องมีความพึงพอใจกว่าเดิม อย่างผลตอบแทนหรือสวัสดิการก็ดีกว่าเดิม ที่ผ่านมานายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ศึกษาการปรับโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ร่วมกับนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเพื่อปรับปรุงงานทั้งในส่วนของตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งต้องปฏิรูปให้ตอบสนองสังคมมากที่สุด องค์กรต้องเล็กลง

"ตร.เป็นด่านแรกก่อนถึงศาล ถ้าด่านแรกไม่ดีก็ต้องแก้ไข"


ด้าน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงเรื่องการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ขอสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะในหลักการตำรวจอยู่ในกระบวนการยุติธรรม มีอำนาจในการจับกุมสอบสวน เป็นต้นทางก่อนถึงศาล ถ้าต้นทางไม่ดีมีปัญหาต้องแก้ไข ในประวัติศาสตร์ตำรวจบางยุคตกอยู่ภายใต้อำนาจการเมืองมาตั้งแต่ยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จนมาถึงยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ใช้อำนาจการเมืองบงการตำรวจ เปิดเป็นรัฐตำรวจขึ้นมาคอยรับใช้นักการเมือง ตำรวจที่ดีก็มี แต่ไม่ได้รับการส่งเสริม ไม่เหมือนพวกที่คอยประจบนักการเมืองที่มักได้ดิบได้ดี ซึ่งการปรับโครงสร้างตำรวจนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบราชการและการปฏิรูปการเมือง ต้องทำให้ตำรวจใกล้ชิดกับประชาชน ควรมีเป้าหมายหลัก คือประชาชน องค์ประกอบจึงต้องมีการแก้ไข เพราะเวลานี้ โครงสร้างใหญ่เทอะทะ มีคนใช้ตำรวจอยู่ไม่กี่คน ควรกระจายอำนาจออกไปสู่ท้องถิ่น

"กระจายอำนาจยิ่งมากยิ่งดี"


น.ต.ประสงค์กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช รอง ผบ.ตร.และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาคัดค้านในเรื่องนี้ โดยใช้คำพูดรุนแรงว่า เป็นสิ่งไม่ควร เพราะถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย การปรับ โครงสร้างตำรวจอย่าคิดว่าทำไม่ได้ ส่วนที่บอกว่า เมื่อปรับโครงสร้างให้ตำรวจไปขึ้นกับท้องถิ่นแล้วแผ่นดินจะลุกเป็นไฟนั้น อยากถามว่าไฟที่ไหม้นั้น ไหม้ใครแล้วลามไปถึงใคร เพราะการกระจายอำนาจยิ่งมากยิ่งดี และต้องกระจายเงินออกไปด้วย เชื่อว่าเมื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว การปฏิรูปโครงสร้างคงจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

ขณะที่นายประพันธ์ คูณมี สมาชิก สนช. กล่าวถึงเรื่องที่ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช รอง ผบ.ตร. และโฆษก สตช. ระบุว่า ถ้ามีการปรับโครงสร้างตำรวจจะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ว่าพูดได้อย่างไร เพราะถึงไม่ต้องปฏิรูป บ้านเมืองก็ลุกเป็นไฟเพราะตำรวจอยู่แล้ว ทั้งภาคใต้ การฆ่าตัดตอนยาเสพติด การอุ้มฆ่า คนที่รู้จักตำรวจดีที่สุดคือประชาชน และการจะปฏิรูปองค์กรใด ผู้นำองค์กรนั้นต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงก่อน ดังนั้น นายกฯต้องเปลี่ยน ผบ.ตร. ก่อนเป็นอันดับแรก เรื่องนี้ต้องเรียก ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ผบช.น. ผู้บัญชาการตำรวจภาคต่างๆมาชี้แจง พร้อมมอบแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล

"ต้องทำให้เสร็จในรัฐบาลชุดนี้"


หากผู้นำในองค์กรไม่เข้าใจ ก็จะแสดงออกแบบ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ การพูดแบบนี้เหมือนทำเพื่อปลุกกระแสต่อต้านนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น นายกรัฐมนตรีควรปลด พล.ต.อ.อชิรวิทย์ก่อนเป็นอันดับแรก รวมถึง ผบ.ตร. ก็ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย ที่ปล่อยให้ลูกน้องออกมาพูดอย่างนี้ กลัวเสียประโยชน์หรืออย่างไร ถึงได้ออกมาปลุกปั่นต่อต้าน ตนเชื่อว่า รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ศึกษางานวิจัยดีแล้วว่าต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร คิดว่าต้องทำให้เสร็จในรัฐบาลนี้ เพราะเชื่อว่าหากผ่านไปถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คงไม่มีทางทำได้สำเร็จแน่นอน เพราะฝ่ายการเมืองและตำรวจต่างก็ใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ที่สำนักงานตำรวจฯ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. กล่าวถึงแนวความคิดการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เราต้องรับฟัง ไม่ว่าผู้ใดแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจ หรือโครงสร้างต่างๆ เพราะตำรวจกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน เมื่อรัฐบาลหรือบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องรับฟัง แต่อยากให้รับฟังเหตุผลของตำรวจด้วย ทุกอย่างพูดด้วยเหตุและผล พูดด้วยผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่มีปัญหาอะไร เปรียบเสมือนผู้หญิงแต่งตัว อย่างในตอนเช้าสวย ตอนบ่ายไม่สวย อาจจะต้องเสริมแต่งบ้าง ทุกคนอยากให้ตำรวจของประชาชน รูปร่างหน้าตาต้องการเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน ปัญหาของเรา เราคิดของเราเองได้ เหมือนกับหน่วยงานอื่น ผู้สื่อข่าวถามว่าได้พูดคุยเรื่องนี้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีหรือยัง ผบ.ตร.ตอบว่า สัปดาห์หน้า นายกรัฐมนตรีอาจจะมาเยี่ยมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คิดว่าคงจะได้พูดคุยกับตำรวจด้วย

"ปรับโครงสร้างต้องคิดอย่างรอบคอบ"


ทางด้าน พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้าราชการตำรวจต้องสอบถามตำรวจด้วยว่า ต้องการอะไร มีข้อบกพร่อง มีปัญหาตรงไหน ไม่ใช่มีอำนาจมากำหนดกรอบให้เอง ไม่รับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ถ้าผิดพลาดบกพร่องใครรับผิดชอบ การปรับโครงสร้างหน่วยงานต้องคิดอย่างรอบคอบ ถ้าเป็นความเห็นร่วมกันของตำรวจและประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง

ตำรวจเองพร้อมปรับเปลี่ยน ซึ่งจะได้ทำอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะคน นอกบ้านนั้นไม่มีทางรู้ดีกว่าคนในบ้าน ในรั้วมหาวิทยาลัย ตนเป็นอาจารย์สอนนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่ไม่มีทางรู้ตื้นลึกหนาบางชีวิตในมหาวิทยาลัยเท่าทันอ.สังศิต แบบเดียวกันในกองทัพ พล.อ.ปานเทพ ที่จบที่ 1 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ต้องเข้าใจกองทัพมากกว่าคนนอก เช่นเดียวกับตนที่เป็นลูกตำรวจ ชีวิตคลุกคลีกับตำรวจมาตั้งแต่เกิด ได้มีโอกาสเรียนระบบตำรวจต่างประเทศ เกือบทุกแห่งในโลกย่อมรู้เรื่องตำรวจดีกว่าคนอื่น

โฆษก ตร.กล่าวต่อว่า ตนไม่ก้าวล่วงทหาร และอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ทั้งสองท่านปรามาสตำรวจ โดยไม่รู้ว่าแก่นแท้ตำรวจจริงๆ เป็นอย่างไร ในฐานะที่เป็นตำรวจ เป็นกระบอกเสียงของตำรวจต้องออกมาพูด ที่สำคัญคือ ตนเคยอยู่ในระบบตำรวจในระดับปฏิบัติการทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะระดับจังหวัด และระดับภาค สอนวิชาการบริหารงานตำรวจทั่วไปที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ และมหาวิทยาลัยมานาน 30 ปี

"ต้องจัดระบบให้สอดคล้องกับชุมชน"


มีความสนในการศึกษาวิจัยงานตำรวจ รู้ว่าปัญหาตำรวจอยู่ตรงไหน ควรแก้ไขอย่างไร ระบบตำรวจแยกเป็น 2 ส่วนคือ ตำรวจแห่งชาติ และตำรวจท้องถิ่น ประการหลังตำรวจท้องถิ่นต้องมีตำรวจส่วนกลางเข้าไปดูแล คอยช่วยเหลือ เมื่อเกินขีดความสามารถของท้องถิ่น จำเป็นต้องใช้ตำรวจที่มีขีดความสามารถเข้าไป ขณะเดียวกัน ระบบตำรวจไทยหรือตำรวจประเทศในเอเชีย เกือบจะทั้งหมดเป็นตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการศึกษา ทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนควรจะต้องจัดวางระบบอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องวิถีชีวิตชุมชน

ปัญหาที่สำคัญที่สุดของตำรวจ คือปัญหาการ บริหารจัดการบนพื้นฐานของความขาดแคลนงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าวตำรวจจึงไปพึ่งพิงงบประมาณนอกระบบมากว่างบประมาณในระบบราชการ เพราะงบประมาณนอกระบบเป็นปัญหาสำคัญ ตำรวจถูกตำหนิติเตียน เป็นภาพลักษณ์ที่ต้องแก้ไข ที่ผ่านมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ซึ่งจากการปรับหน่วยทำให้การประเมินผลงานตำรวจของ ก.พ.ร.ทุกด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีผลงานที่ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมา ไม่ได้ติดอันดับหน่วยงานฉ้อราษฎร์และบังหลวงที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นความร่วมแรงร่วมใจของข้าราชการตำรวจทุกคน ตำรวจเองพยายามที่สุดในการปรับตัวเองให้เป็นที่ยอมรับศรัทธาของสังคม


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์