วันที่ 5 ก.ย. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง
ให้สัมภาษณ์กรณีสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย ไม่พอใจการแต่งตั้งพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 ผู้ต้องหาคดีการหายตัวของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี’33 เป็นผู้ช่วยผบ.ตร.ว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย. เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียเข้าพบตนที่ทำเนียบรัฐบา สอบถามถึงกรณีดังกล่าว ตนอธิบายว่ากรณีพล.ต.ท.สมคิดที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาร่วม 20 ปีแล้ว รัฐบาลสมัยนั้นตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย มีการดำเนินคดีกับพล.ต.ท.สมคิดแล้ว ได้ข้อยุติในทำนองว่าพล.ต.ท.สมคิดไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตนไม่ได้ลงไปตรวจสอบชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลายปีแล้ว ส่วนการสอบสวนทางวินัยก็ยุติแล้ว โดยพล.ต.ท.สมคิดได้รับการลดล้างมลทินทางวินัยไปแล้ว
นายสุเทพ กล่าวว่า เมื่อพล.ต.ท.สมคิดไม่มีความผิดตามกฎหมาย ไม่มีความผิดทางวินัย เป็นหน้าที่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
ต้องดูแลเหมือนกับตำรวจคนอื่นๆ คือเมื่อถึงเวลาต้องปรับย้ายตามปกติซึ่งมีกฎเกณฑ์ของสตช.หรือกฎก.ตร.อยู่ ตนอธิบายกับเอกอัครราชทูตว่ากรณีนี้พล.ต.ท.สมคิดเป็นผู้ที่มีอาวุโสอยู่ใน 11 คนแรก ไม่ได้อยู่ตอนท้ายด้วย แต่อยู่อันดับ 2-3 ซึ่งกฎก.ตร.ระบุไว้ชัดเจนว่า หากมีตำแหน่งว่างลง 33 เปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งที่ว่าง จะต้องจัดให้กับผู้ที่มีอาวุโสเรียงตามลำดับ อาวุโสเรียงตามลำดับใน 33 เปอร์เซ็นต์ ครั้งนี้มีทั้งหมด 11 คน ต้องจัดให้ทั้ง 11 คนขึ้น เราไม่สามารถปฎิบัติเป็นอย่างอื่นได้ ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ขั้นตอนกฎก.ตร. และการดำเนินการนี้ก็มีวิธีการปฎิบัติที่ชัดเจนคือมีคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นประธาน รองผบ.ตร. ทุกคนเป็นกรรมการ ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองนี้แล้ว ถึงจะเข้าสู่การพิจารณาของก.ตร.ซึ่งตนเป็นประธาน
“ขอให้ทูตซาอุดีอาระเบียเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในการโยกย้ายแต่งตั้ง ผมในฐานะประธานก็มีเพียงหนึ่งเสียง เป็นหนึ่งเสียงที่ผมดำเนินการ จะใช้เสียงก็ต่อเมื่อมีคะแนนเสียงของฝ่ายเห็นต่างกัน และมีคะแนนเท่ากัน ผมยืนยันกับทูตว่าทางรัฐบาลไทยจะไม่ช่วยเหลือหรือเข้าข้างไปแทรกแซงคดีความของพล.ต.ท.สมคิดแต่ประการใดทั้งสิ้น ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รื้อคดีนี้ขึ้นมาดำเนินการใหม่ โดยบอกว่ามีหลักฐานใหม่ ซึ่งก็ให้เขาดำเนินคดีไป ผมขอทูตซาอุฯเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย และผมจะทำบันทึกถึงเอกอัครราชทูตซาอุฯ เป็นหนังสือพร้อมข้ออ้างอิงที่เป็นกฎหมาย และกฏก.ตร.แปลเป็นภาษาอังกฤษให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อที่เขาจะได้ไปรายงานรัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ถูกต้อง แต่ตนไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดทางรัฐบาลซาอุฯจึงรีบออกมาพูดถึงเรื่องนี้ทั้งที่รายงานยังไม่เรียบร้อย” นายสุเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ดีเอสไอรื้อคดีขึ้นโดยบอกว่าตามมามาตรา 99 กฎหมายพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
ระบุว่าตำรวจหรือข้าราชการที่ยังมีคดีความยังไม่มีที่สิ้นสุดจะต้องถูกออกราชการไว้ก่อน นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ใช่ แถลงการณ์นั้นผิด ตนจะนำกฎหมายมาชี้แจงให้ถูกต้อง หนังสือชี้แจงที่ตนจะทำถึงอุปทูตซาอุฯฉบับภาษาไทยตนจะแจกให้กับผู้สื่อข่าว คิดว่าเขาเข้าใจข้อกฎหมายของเราไม่ถูกต้อง
เมื่อถามว่า ภาพรวมความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุฯนั้น ทางแรงงานก็พยายามเปิดทางให้คนงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ
กรณีนี้จะทำให้ความสัมพันธด้านอื่นกระทบไปด้วยหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ปัญหาไทยกับซาอุฯเกิดปัญหามาร่วม 20 ปีแล้ว หากจำได้มีเรื่องติดต่อกันมา 3-4 กรณี คือการส่วงแรงงานไทยไปซาอุฯ และเกิดการขัดผลประโยชน์กันทำให้เจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯถูกยิงเสียชีวิต ต่อมามีกรณีชาวซาอุฯเข้ามาตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้เสียชีวิตลง และเป็นข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะนั้นซึ่งมีพล.ต.ท.สมคิดรวมอยู่ด้วยจะรู้เห็นการเสียชีวิต และเกิดกรณีคนงานไทยไปขโมยเพชรจากวังออกมา ตั้งแต่นั้นก็เกิดปัญหาขึ้นมา รัฐบาลในสมัยหลังๆ พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่ว่ากรณีความฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกรณีของการปฎิบัติตามกฎหมายต้องแยกแยะให้ชัดเจน