หวั่นเกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ซ้ำรอยสหรัฐฯ-ต้มยำกุ้ง ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับบ้าน สั่งขึ้นบัญชีดำให้ผู้บริโภคตรวจสอบ
วันนี้ (26 ส.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าไปตรวจสอบข้อมูลร้องทุกข์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า มีโครงการใดบ้างที่ถูกร้องเรียนจากผู้บริโภค และให้รวบรวมเป็นบัญชีรายชื่อไว้ให้กับผู้บริโภคที่ต้องการตรวจสอบข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์ ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการที่ขาดความรับผิดชอบ หรือเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนี้ หากเป็นกรณีร้องเรียนที่ผู้บริโภคระบุว่า ผู้ประกอบการได้ยุติการก่อสร้าง หรือเลิกโครงการไปแล้ว ก็ได้สั่งการให้ สคบ.เร่งเข้าไปไกล่เกลี่ย เพื่อให้มีการคืนเงินให้กับผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะเร่งรัดให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลอาญาแผนกคดีผู้บริโภคต่อไปในทันที
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ ได้เชิญสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3 สมาคม
คือ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ที่มีสมาชิกกว่า 500 ราย มาหารือร่วมกัน เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการที่ผู้บริโภคยอมเสียเงินเป็นจำนวนมากที่จะซื้อบ้าน หรือห้องชุดเป็นของตนเอง แต่กลับไม่ได้รับบ้าน หรือห้องชุดดังกล่าว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการบ้านจัดสรร อาคารชุดคอนโดมีเนียม
กำลังขยายตัวอย่างร้อนแรงจากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมกับผู้บริโภคที่จองซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์แล้ว แต่กลับไม่ได้รับ เช่น จองซื้อแล้วสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ หรือโครงการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา หรือมีการโอนส่งมอบกันแล้ว แต่มีปัญหาบ้านทรุด ไม่ได้คุณภาพ เพราะที่ผ่านมา สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ จากผู้บริโภคมากเป็นอันดับหนึ่งของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด
“ตนเองรู้สึกเป็นห่วงว่า การเติบโตอย่างร้อนแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้ เพราะที่ผ่านมาได้มีตัวอย่างจากที่เคยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในไทย และยังเกิดปัญหาเช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ จนทำให้เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และส่งผลกระทบไปทั่วโลก หาก สคบ.ไม่เร่งดำเนินการ เพื่อดูแลปัญหาเรื่องนี้ในเชิงรุก ก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนตามมาในภายหลังได้”
นอกจากนี้ ยังเตรียมไปตรวจเยี่ยมโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับรางวัลโครงการบ้านติดดาวจาก สคบ. ทั้ง 10 บริษัทด้วย
เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกบการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการก่อสร้าง และลดการร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ล่าสุด ในรอบ 9 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค. 52-มิ.ย.53 มีผู้ร้องเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ามาที่ สคบ.ประมาณ 2,000 ราย จากผู้ร้องเรียนทั้งหมดกว่า 6,000 ราย.