"เติ้ง" ยกนิ้ว"สะพรั่ง"นั่งปธ.บอร์ด! จวกฟรีทีวี - ต้องเป็นสื่อเพื่อปชช.
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤศจิกายน 2549 16:38 น.
"บรรหาร" หนุนทหารเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เชื่อทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต พร้อมจี้คตส.-ป.ป.ช. แฉสอบทุจริตโดยเร็ว บอกมีข้อมูลเยอะแต่ผ่านมาเดือนกว่ายังไม่ชัดเจน จี้ฟรีทีวี 3-5-7-9ต้องเสนอข้อมูลทั้งสองด้านที่ผ่านมาให้ข้อมูลการเมืองต่อประชาชนน้อยเกินไป
วันนี้(15พย.49)นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณี รัฐบาลส่งทหารเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่งว่าไม่เหมาะสม ว่า เรามีประสบการณ์อยู่แล้ว เช่น เราส่งปลัดกระทรวงเข้าไปเป็นประธานบอร์ด และส่งเอกชนเข้าไปเป็นกรรมการ ระดับปลัดกระทรวงมีบารมีพอไหมที่จะไปสั่งการเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่มีอยู่ เพราะเจ้าหน้าที่บางคนที่ทำงานอยู่มีคนหนุนหลัง สั่งงานเขาก็อาจไม่ทำก็ได้ ปัญหาจึงเกิดขึ้น ความไม่สุจริตจึงเกิดขึ้น เช่นเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น
นายบรรหาร กล่าวต่อว่า หากถามว่าทำไมทหารต้องเข้าไป ก็อยากจะบอกว่าสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ตนตั้งพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธานในการก่อสร้างสนามบินแห่งที่2 ซึ่งคำสั่งก็มีอยู่แล้ว จึงอยากเรียนว่า ที่เขาตั้งพล.อ.สะพรั่ง กัลยามิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เข้าไปนั้น ตรงนี้ตนได้ยินคำสัมภาษณ์ของท่าน ซึ่งท่านบอกว่าจะเข้าไปเป็นหลัก ไปกำจัดสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่อยู่ในนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐวิสาหกิจเหมือนสมบัติผลัดกันชมนั้นมันไม่ใช่ ท่านเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในยามที่บ้านเมืองวิกฤติ ในช่วง1 ปี กว่านี้ ท่านคงไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด น่าเห็นใจ พวกเราต้องช่วยกัน ถ้า 19 ก.ย.ไม่มีท่านเหล่านี้ แล้วจะเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าช่วงปีเศษข้าราชการทหารที่เข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจคงตั้งใจทำงานอย่างซื้อสัตย์สุจริตและตรงไปตรงมา จากนั้นเมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งท่านพวกนี้ก็ต้องลาออกแน่นอน มีหลักอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก ถ้าหัวส่ายหางก็ส่าย แล้วหัวอย่างพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คนนี้ใช้ได้ เพราะท่านไม่ส่าย ฉะนั้นหางจะส่ายได้อย่างไร ผมจึงเห็นใจทหารที่เข้าไปเป็นบอร์ดทำงานตรงนี้ อย่าไปกระแนะกระแหน ค่อนขอด เขาเลย
นายบรรหาร กล่าวด้วยว่า หลายฝ่ายก็ทราบว่าเหตุผลในการปฏิรูปมีอยู่ 4 ข้อ คือ 1.ไม่อยากให้เกิดความแตกแยก อยากให้เกิดความสมานฉันท์ ในข้อนี้ตนมีความเห็นใจนายกฯ บางทีก็เข้าไปถามท่านเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนก็สะดุ้งเมื่อท่านบอกว่าใครสามารถทำได้ภายในวันนี้พรุ่งนี้ท่านจะไปกราบเลย นั่นแสดงให้เห็นว่าเป็นคำพูดที่สะท้อนจากจิตใจของท่านอย่างแท้จริง ท่านพยายามทำทุกวิถีทาง ฉะนั้น ปัญหาที่มันหมักหมมทั้งเรื่อง ฆ่าตัดตอน หากมีพวกผสมโรงด้วย ตนคิดว่านายกฯทำได้ ถ้าตอนนี้เป็นนายกฯคนอื่นตนก็ไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร มันจะวุ่นวายโกลาหลอยู่หรือเปล่า
นายบรรหาร กล่าวต่อว่า 2. เรื่องตรวจสอบการทุจริตในแต่ละแห่ง ที่จริงแล้วตนก็มีความเห็นว่าในระยะ 1-2 เดือนนี้ ควรจะมีเรื่องการตรวจสอบโครงการทุจริตออกมาบ้างแล้ว แต่การที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แค่เดือนเศษ เราก็เห็นใจ แต่ถ้าผ่านไปอีกประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะมีอะไรออกมาบ้างแล้ว เช่นก่อนจะมีการปฏิวัติ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็พูด ซึ่งตนก็ฟังท่านพูดตลอดเวลา เช่น ข้อมูลซีทีทีเอ็กซ์ที่มีความพร้อมอยู่มาก สามารถที่จะรู้ว่าข้อมูลดังกล่าวมีใครทำอะไรไว้บ้าง ทำไม่ถูกต้อง ใครได้ผลประโยชน์ ผลการตรวจสอบก็น่าจะออกมาภายในเดือนนี้ ตนก็อยากจะทราบว่าที่มีการพูดกันในสภาฯนั้นมันจริงหรือไม่ นอกจากนี้กรณีแอร์พอตลิ้งค์ ตรงนี้เป็นอะไรที่ง่ายในการตรวจสอบ มันไม่ยากหรอก เช่นมีการออกค่าประกันให้ผู้รับเหมา การที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายค่าชดเชยเงินกู้ แทนบริษัทที่ดำเนินการ ตรงนี้เป็นการตรวจสอบที่ง่าย น่าจะออกมาได้แล้ว ไม่ยากเลย
กรณีที่นายแก้วสรร อติโพธิ คณะอนุกรรมการคตส.ตอนอยู่ในสภาคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ว่ามีการทุจริตมากมาย ถ้าท่านเห็นว่ามีการทุจริตจริงก็ลงมือทำเลย ตนเคยเห็นท่านไปออกเอเอสทีวี ท่านก็พูดว่าต้องดูหลักฐานรายละเอียดต่างๆมาประกอบ ตนฟังแล้วก็แหม..ตอนที่ท่านเป็นส.ว.ท่านก็บอกว่ามีข้อมูลพร้อมหมดแล้ว ร้องเรียนไปทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ท่านก็ทำเลย ผมยินดีสนับสนุน เอาเลย ทำให้ชัด เร่งทำเถิด คตส.-ป.ป.ช. มันเท่ากับช่วยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทางอ้อม เมื่อเค้ามอบอำนาจให้แล้ว คตส.-ป.ป.ช.ก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย นายบรรหาร กล่าว
นายบรรหาร กล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังมีการติงกันว่าการสื่อสารให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลน้อยมาก มันน้อยจริงๆ ฉะนั้นสื่อของรัฐเช่นฟรีทีวี ช่อง 3 ,5 ,7, 9 ต้องนำเสนอข้อมูลทั้งหมดทั้ง 2 ด้าน ให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะจะหวังไปพึ่งเอเอสทีวี และเนชั่นทีวี มันไม่กระจายไปทั้งประเทศ ตรงนี้ต้องมาทำต้องมาวิเคราะห์ และเป็นการช่วยรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย สื่อที่เป็นของรัฐควรทำตรงนี้ ส่วนอะไรที่เป็นผลประโยชน์ขององค์กร หน่วยงานนั้นๆ ก็ต้องดูกันต่อไป ต้องมีการแบ่งงานแบ่งช่วงเวลาบ้าง มีการวิเคราะห์การเมือง ทุกด้านฃ