"ประสพสุข" ของขึ้นโวยไม่ใช่เบ๊รัฐบาลสรรหาผู้ว่าสตง.คนใหม่ ตีกันใช้ดุลพินิจดำเนินการเองได้ ย้ำศาล รธน.เท่านั้นชี้ขาด
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายประสพสุข ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ทางรัฐบาลขอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหารกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เลยโดยไม่ต้องรอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ตามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ไม่ว่า ครม.จะพูดอะไรเราก็ไม่ฟัง หากจะทำก็จะดำเนินการเอง คนอื่นมาสั่งไม่ได้ เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของฝ่ายเลขาฯ ในการดำเนินการ ซึ่งจะเชิญกรรมการสรรหาฯ มาร่วมพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ทางที่ดีควรรอสัปดาห์หน้า คาดว่านายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะบรรจุร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ... เข้าสู่สภาฯ หากสภายืนยันตามที่วุฒิสภาแก้ไขก็ใช้สามารถใช้บังคับและดำเนินการสรรหาคตง.และผู้ว่าสตง.ได้เลย แต่ถ้ากฎหมายมีอันต้องตกไปก็ต้องเสนอเข้ามาใหม่ ซึ่งตนก็จะเชิญคณะกรรมการสรรหาฯ มาพิจารณาใหม่ว่าจะเห็นอย่างไร
นายประสพสุข กล่าวว่า ทราบท่าทีล่าสุดว่าคณะกรรมการสรรหาฯ จะรอให้ได้ข้อยุติในเรื่องของร่างกฎหมายก่อน
จากนั้นอาจมีมติเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะสามารถดำเนินการสรรหาได้ตามกฎหมายเก่านั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาฯ เพราะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นแค่คำปรึกษาที่ไม่มีผลผูกพัน จะมีผลผูกพันแค่องค์กรเดียวเท่านั้นคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ ส.ว.เกิดความขัดแย้งกันเอง นายประสพสุข กล่าวว่า คงไม่มีอะไร แต่ตนไม่ขอพูดว่าการดำเนินการของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ที่ส่งความเห็นไปให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นการทำนอกหน้าที่หรือไม่
เมื่อถามว่า การส่งความเห็นไปไม่ใช่แค่ให้คำปรึกษา แต่กลายเป็นถูกนำมาใช้อ้างอิง เพื่อที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อ
นายประสพสุข กล่าวว่า ความเห็นของกฤษฎีกาไม่สามารถนำไปอ้างอิงอะไรได้ เพราะไม่มีผลผูกพันกับองค์กรใด ดังนั้นผู้สั่งการก็ต้องรับผิดชอบเอง ถ้าจะให้ได้ข้อยุติก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าใครทำหน้าที่รักษาการที่แท้จริง.
“ประสพสุข”ไม่ยึดติดที่มาส.ว. ลั่นเลือกตั้งหมดก็ได้
ที่รัฐสภา นายประสพสุข ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงค์ธัญญวงศ์ เป็นประธาน เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา รวมถึงที่มาของส.ว.ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการยกเลิกส.ว.หรือปรับเปลี่ยนวิธีการสรรหามันอยู่ที่แนวความคิดว่าระบบวุฒิสภาควรจะมีต่อไปหรือไม่ แต่ในความเห็นของตนคิดว่ายังควรมีต่อไป ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็ยังมีระบบสองสภาคือส.ส. ส.ว.อยู่ เช่น อังกฤษ อเมริกา หรือกลุ่มประเทศยุโรป ส่วนการระบบการเข้าสู่ตำแหน่งจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่จะไปคิดกัน ตนไม่ได้ติดใจอะไร จะเปลี่ยนให้เป็นการเลือกตั้งทั้งหมดก็ได้ เรื่องนี้ยังเล็กที่จะไปทำประชามติ