รอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมเผยแพร่บทความ
ล่าสุด โจมตีไทยกำลัง"ถอยหลังเข้าคลอง"ในเรื่องประชาธิปไตยและตกอยู่ใต้การปกครองของ"พวกอันธพาล " แถมยังเปรียบเทียบไทยกับพม่าว่ารัฐบาลทหารพม่ายังให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมากกว่า พร้อมทั้งเรียกร้องรัฐบาลสหรัฐฯรีบแทรกแซงไทยให้กลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว...
รอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชื่อดังชาวแคนาดา
ซึ่งรับเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ยังโจมตีประเทศไทยเป็นระยะ โดยเผยแพร่บทความชิ้นล่าสุดผ่านทางเว็บไซต์ส่วนตัวเมื่อคืนวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา กล่าวโจมตีประเทศไทยว่ากำลัง "ถอยหลังเข้าคลอง"อย่างร้ายแรงในด้านประชาธิปไตย
อัมสเตอร์ดัม วัย 54 ปีระบุว่าถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ประเทศไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น "แม่แบบแห่งความเป็นประชาธิปไตย"ให้กับประเทศ อื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเคยมีสถิติที่น่าชื่นชมในด้านการให้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชน รวมถึงเคยให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้คนส่วนน้อยในสังคมมาโดยตลอด กลับกำลัง"ถอยหลังเข้าคลอง"และเดิน"สวนทาง"กับความเป็นประชาธิปไตย
ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้ว่า มาตรฐานในเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของไทยในเวลานี้ได้ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายในภูมิภาคไปแล้ว ไม่เว้นแม้แต่พม่าที่ถึงแม้จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร แต่บรรดาคณะผู้ปกครองของพม่ากลับพยายามผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศของตัวเองในเดือนพฤศจิกายนนี้ แม้การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าที่กำลังจะเกิดขึ้นจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็ตาม
อัมสเตอร์ดัมยังระบุว่าการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ " กลุ่มคนเสื้อเหลือง"
ในช่วงที่ผ่านมายังเป็นการทำลายความมั่นใจของบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญๆของไทย รวมถึงเป็นการทำลายความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคด้วยเช่นกัน ในตอนท้ายของบทความมีการกล่าวโจมตีประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ และนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศว่าประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการที่จะหาทางหยุดยั้งประเทศไทยไม่ให้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นชาติที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยไปเป็นชาติที่ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของ"คณะผู้ปกครองที่เป็นอันธพาล" (rogue regime)
บทความดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯยื่นมือเข้ามากดดันให้รัฐบาลไทยเร่งยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ต่างๆ และให้มีการยกเลิกการกดขี่คุกคามที่กระทำ"อย่างเป็นระบบ"ต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯกดดันให้มีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยโดยเร็ว