ชัยไม่บรรจุบันทึกประชุมเจบีซี3ครั้งล่าสุดเข้ารัฐสภา

"ชัย"ไม่บรรจุบันทึกประชุมเจบีซี3ครั้งล่าสุดเข้ารัฐสภา มติเสียงข้างมากไม่ให้เปิดรายงานถกJBCปี51

มติเสียงข้างมากไม่ให้เปิดรายงานประชุมเจบีซี ชัย"ไม่บรรจุบันทึกการประชุมจบีซี3ครั้งล่าสุดเข้ารัฐสภา

ที่รัฐสภา วันที่ 17 สิงหาคม มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณา รายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมลับ 3 เรื่อง ซึ่งคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเสร็จแล้ว และต้องเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าจะให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่
 
ประกอบด้วย 1.รายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมลับเรื่อง กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันอังคารที่ 28 ตุลาคม 2551 
 
2.รายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมลับเรื่องกรอบการเจรจาสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย – ลาว ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันที่ 24-25 มีนาคม 2552 
 
3.รายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมลับเรื่อง ร่างกรอบการเจรจาในกลไกของการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (กทช.) ไทย-กัมพูชา ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 7 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณา ปรากฎว่า คณะกรรมาธิการกิจสภาฯมีความเห็นว่าให้เป็นเรื่องลับไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเพราะการประชุมรัฐสภาในครั้งนั้นมีการอภิปรายพาดพิงเกี่ยวกับต่างประเทศทำให้เกรงว่าหากมีการเปิดเผยออกไปจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
 
อย่างไรก็ดี ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีถอนเรื่องเจบีซีออกจากรัฐสภาไปก่อน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในข้อบังคับที่ 30 ระบุว่า การเปิดเผยรายงานการประชุมลับให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมามีการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ทั้งที่ไทยและกัมพูชา ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว แม้รายงานการประชุมจะเป็นประชุมลับ แต่เมื่อกมธ.ส่งรายงานกลับมาไม่มีข้อมูลรายละเอียดส่งมาให้ เพียงแต่บอกว่าจะเปิดเผยหรือไม่
 
"วันนี้กรณีปัญหาการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชายังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะเอ็มโอยูปี 43 หากสมาชิกมีข้อทักท้วงว่าควรเปิดเผยหรือไม่ต้องพิจารณา เพราะขณะนี้มีข้อขัดแย้งทางสังคมสูง หากใช้กระบวนการของรัฐสภาชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อนสามารถทำได้ เป็นไปได้หรือไม่รัฐสภาจะใช้โอกาสนี้ให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้เสนอเรื่องนี้เข้ามาถอนเรื่องดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะทำเรื่องให้กระจ่างแก่สังคมในการปกป้องอธิปไตยของไทย หรือไม่ก็ให้เลื่อนออกไปก่อน" นพ.ชลน่าน กล่าว
 
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีความเป็นห่วงการลงมติของรัฐสภาวันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่หากมีการลงมติให้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องลับไม่เปิดเผยต่อประชาชน เพราะขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 รัฐบาลจะต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างประเทศให้ประชาชนรับทราบ
 
นายวิทยา แก้วภารดัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า กรอบการเจรจาดังกล่าวไม่เกี่ยวกับเรื่องเอ็มโอยู 2543 ตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้าง วันนี้การประชุมรัฐสภาในเรื่องนี้วันนี้มีแค่ว่าจะเปิดเผยรายงานประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 หรือไม่หรือจะให้เป็นเรื่องลับต่อไปก็เท่านั้น เพราะเรื่องนี้รัฐสภาได้มีมติให้รัฐบาลสามารถดำเนินการไปแล้ว ซึ่งหน้าที่ของรัฐสภาก็จบตรงนั้น 
 
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ยืนยันว่าการดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญจะมีการเปิดเผยและสอบความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงไม่มีการปิดเป็นความลับ แต่การประชุมรัฐสภาในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเพราะเป็นเพียงว่ารัฐสภาจะให้เปิดเผยรายงานการประชุมหรือไม่ ส่วนเรื่องกรอบการเจรจาของรัฐบาลกับต่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องลับแต่อย่างใด
 
จากนั้น นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้เรียกสมาชิกรัฐสภาให้ใช้สิทธิ์ออกเสียงลงมติว่าจะให้รายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมลับทั้ง 3 ฉบับ เป็นรายงานลับต่อไปหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมาก เห็นชอบให้รายงานทั้ง 3 ฉบับ เป็นรายงานลับต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งกังวลว่า คณะรัฐมนตรีจะเสนอบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 1 ที่เมืองเสียมราฐ ปี 2551 ครั้งที่ 2 กรุงเทพปี2552 และ 3.ที่กรุงพนมเปญ ปี2552 มาให้รัฐสภาพิจารณาเป็นวาระจรโดยไม่ได้ให้รายละเอียดแก่สมาชิกรัฐสภาล่วงหน้าตามที่กระทรวงการต่างประเทศโดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรมว.ต่างประเทศออกมาแสดงท่าทีก่อนหน้านี้
 
แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ไม่ได้แจ้งระเบียบวาระเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทำให้การประชุมรัฐสภาในเรื่องดังกล่าวเป็นการพิจารณาเพียงแค่ว่าที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติให้เปิดเผยรายงานการประชุมลับหรือไม่เท่านั้น
 
"ชัย ชิดชอบ"ถามมาโวยวายอะไรหน้าสภาแค่พิจารณากรอบเดิม
 
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์วันที่ 17 สิงหาคมก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา ถึงกระแสข่าวกระทรวงต่างประเทศขอเลื่อนการพิจารณาเรื่องกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ออกจากการประชุมร่วมรัฐสภา ว่า ยังไม่มีการบรรจุระเบียบวาระดังกล่าวในการประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ (วันที่ 17 สิงหาคม) เพราะการประชุมร่วมรัฐสภานัดนี้เป็นการประชุมเพื่อพิจารณากรอบความร่วมมือเดิมๆ ที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2551 เรื่องมันไม่เห็นมีอะไร แล้วจะมาโวยวายอะไรกันหน้าสภา ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไร้สาระ

เครือข่ายค้านพระวิหารบุกรัฐสภาจี้ถอดMOUปี43 ขู่ปักหลักยืดเยื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ว่า กลุ่มภาคีเครือข่ายประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์  ได้นำกลุ่มประชาชนเดินทางมารวมตัวชุมนุมที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้นำบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา หรือ MOU ปี 43 ออกจากการพิจารณาระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้ โดยมีการใช้รถกระจายเสียงเคลื่อนที่เป็นเวทีปราศรัย
 
ทั้งนี้ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า การมาชุมนุมในครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงพลังให้รัฐบาลได้รับรู้ และต้องการเรียกร้องให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถอนมติกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนว ในกรอบของกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี ออกจากการประชุมร่วมรัฐสภา  โดยพวกตนจะปักหลักชุมนุมอยู่ที่นี้จนกว่ารัฐสภา จะไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ เห็นว่าการที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า จะไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้นั้น  ถือว่าเป็นการโกหก ไม่เช่นนั้นจะนำอะไรไปเจรจาความเมือง
 
เครือข่ายคนไทยฯ ชุมนุมหน้าสภา เรียกร้องถอนวาระกรอบเจรจา "ไทย-กัมพูชา" ออกจากถกร่วมรัฐสภา
 
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เวลา 09.00 น.กลุ่มเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ นำโดย นายวีระ สมความคิด  ได้นำรถบรรทุกขยายเสียง มาตั้งบริเวณหน้ารัฐสภา  เพื่อเรียกร้องให้เพิกถอนวาระเรื่องของกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา  ในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติมีระเบียบวาระสำคัญที่จะพิจารณา คือ เรื่องเกี่ยวกับการบันทึกข้อตกลง และความเข้าใจกับต่างประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา
 
อาทิ เรื่องเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบ
 
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จ จำนวน 4 ฉบับ อาทิ รายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมรัฐ เรื่องกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์