มาร์คตอกจตุพรต้องประชุมลับหากงัดปมเขาพระวิหารขึ้นถกกลางสภา

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น.  วันที่ 16 สิงหาคม  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารายงานผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ในวันที่ 17 สิงหาคม ว่า ครม. ไม่ขัดข้องกับข้อเสนอจากส.ว. ที่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยตนขอว่าเรื่องที่เกี่ยวกับเจบีซีนั้น น่าจะมีการตั้งกมธ. ขึ้นมาศึกษาก่อนให้ความเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เตรียมหยิบปัญหาปราสาทพระวิหารเข้าหารือในที่ประชุมร่วมรัฐสภาด้วย  นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เข้าใจว่าที่ผ่านมาเราประชุมลับ และครั้งนี้ก็น่าจะเป็นการประชุมลับ”


ส่วนกรณีที่กัมพูชาส่งหนังสือถึงอาเซียนและประเทศเวียดนามในฐานะประธานอาเซียน เพื่อขอให้เข้ามาสะสางข้อพิพาทไทย-กัมพูชานั้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้กำหนดแนวทางในการดำเนินการของไทย หากเห็นว่าสมควรต้องชี้แจงตอบโต้ก็ให้ดำเนินการ แต่อาจไม่ใช่ทุกกรณี โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศในเชิงการทำความเข้าใจ และดูว่าจะใช้หรือไม่ใช้เวทีใด


เมื่อถามว่า ดูเหมือนมาตรการทางการทูตของไทยจะตามหลังกัมพูชา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คิดว่าไม่ใช่

ปัญหาที่เกิดขณะนี้เป็นเพราะกัมพูชาเห็นว่ากระบวนการของตนได้ได้รับผลกระทบเรื่องมรดกโลก จากการเลื่อนการพิจารณาในเรื่องนี้ไปเป็นปี 2554 จึงกังวลว่าไทยจะใช้กำลังหรือไม่อย่างไร และอาจเป็นแนวทางที่กัมพูชาต้องการห้เกิดภาพลักษณะเช่นนั้นอยู่แล้ว จึงต้องเดินอย่างนั้น แต่ไทยมีหน้าที่บอกว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ตน นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ปูทางแล้วว่าข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องมรดกโลกนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นการชี้แจงในเรื่องนี้ถือว่าง่ายกว่าปีที่แล้วมาก


เมื่อถามว่า ประเมินว่า เหตุใดกัมพูชาถึงดึงต่างประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เขามองว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาเป็นฝ่ายที่ทำความเข้าใจกับประชาคมโลกมากกว่าในเกือบทุกเวที เขาจึงมองว่าเขาได้เปรียบตรงนั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีความรอบคอบในการดำเนินการในทุกเรื่องทุกขั้นตอน ส่วนที่ไทยยังไม่มีการชี้แจงกับอาเซียนนั้น เพราะเห็นว่าอาเซียนมีความเข้าใจไทยดีพอแล้ว”

ส่วนกระแสข่าวนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะเดินทางมาเยือนกัมพูชาในวันที่ 27-28 ตุลาคมนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าเลขาธิการยูเอ็นจะเดินทางไปที่ใดบ้าง อีกทั้งกำหนดการของตนในเดือนกันยายนก็ยังไม่นิ่ง เพราะยูเอ็นมีหลายภารกิจก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์