ศาลรธน.เริ่มพิจารณาคดียุบ ทรท.- ปชป.วันนี้

"พิจารณาคดียุบพรรค ทรท."


ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทย-ประชาธิปัตย์วันนี้ (14พ.ย.) ส่วนปปช.จะทำการเปิดบัญชีทรัพย์สินรัฐบาล"ทักษิณ"

(14พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมตุลาการรัฐธรรมนูญวันนี้(14พ.ย.) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีระเบียบวาระสำคัญ ในการพิจารณาคือการพิจารณากรณีที่อัยการสูงสุด ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกรณีดังกล่าว อยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ

ทั้งนี้คดีดังกล่าว ค้างมาจากการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว ที่ถูกยุบเลิกไป พร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แต่คดีทั้งหมดที่ค้างจากศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ผ่านมาถูกโอนมาอยู่ในการพิจารณา ของตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

"เปิดบัญชีทรัพย์สิน รัฐบาลทักษิณ"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(14 พ.ย.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จะมีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่ง หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยจะมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินรวมทั้งหมด จำนวน 33 บัญชี ที่ชั้น 30 อาคารธนภูมิ ย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่

ขณะที่ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมช.) กล่าวผ่านรายการคมชัดลึก ว่า สิ่งที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พูดไปแล้วจะประหลาดใจไม่ได้ แต่น่าสนใจที่รัฐประหารไม่ถึง 2 เดือน พล.อ.ชวลิตบอกว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับเมืองไทยได้ ขณะที่ยังมีปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ และการจัดการความขัดแย้งก็ไม่เหมาะสม ความตรึงเครียดมีทั่วไป จึงควรให้รัฐบาลชุดใหม่มีเวลาแก้ปัญหาภาคใต้อีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้สถานการณ์การเมืองปกติ เพราะมีกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองซึ่งยังมีพลังกว้างขวาง รวมถึงที่อยู่ในระบบตำรวจ ทหาร ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดเดิมและยังอยู่ในตำแหน่ง

"รอให้รัฐบาลคุมสถานการณ์ได้ก่อน"


ส่วนที่ว่าที่ไม่ให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับเพราะนายกฯต้องไปประชุมเอเปกนั้น เป็นไปได้ที่ผู้นำหลายประเทศอาจไม่สบายใจ และคงเห็นว่าระบบที่มีการรัฐประหารเป็นระบบที่ยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าคุณทักษิณถูกกล่าวเป็นจำเลยก็ควรให้สิทธิมาป้องกันตนเองจากการถูกกล่าวหา แต่ทั้งนี้ต้องให้เวลารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ก่อน คาดว่าน่าจะ 2-3 เดือน น่าจะผ่อนคลายเรื่องต่างๆได้ รวมถึงคดีคตส.ก็อาจจะมีความคืบหน้า

ดร.สังศิต กล่าวอีกว่า กลุ่มทหารที่มายึดอำนาจก็ไม่ได้เตรียมตัวที่จะเข้ามาบริหารประเทศซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานอีกแบบ การจัดการกับผู้สนับสนุนรัฐบาลเก่า หรือการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่มีความรู้เพียงพอจึงอาจยังลังเลใจ ประกอบกับมีแรงกดดันจากต่างประเทศ จึงมองว่าจังหวะก้าวคืนสิทธิให้ประชาชนอย่างไรจึงปลอดภัย ดังนั้นที่หัวหน้า คมช.พูดว่า คมช.มี 6 คน แต่ไม่ใช่ว่าจะมีเอกภาพทั้งหมด แม้ทหารยึดอำนาจเบ็ดเสร็จก็มักจะไม่ค่อยใช้อำนาจ และพบว่าครม.ตั้งแล้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองในภาวะที่ประเทศประสบวิกฤติ ส่วนใหญ่ข้าราชการก็ยังทำงานประจำ ส่วนการตั้งทหารเข้าไปเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจนั้น ก็เพื่อเข้าไปตรวจสอบ หากไม่ส่งคนเข้าไปงานก็ไม่คืบหน้า ดังนั้นการที่จะส่งใครเข้าไปไม่สำคัญแต่ต้องมอบหมายภารกิจว่าต้องเข้าไปตรวจสอบการทุจริตรัฐบาลชุดเดิม และต้องสร้างหลักประกันว่าตั้งทหารเข้าไปไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ และต้องเปิดเผยวาระระเบียบการประชุม ใครมาเป็นบอร์ดสังคมก็ปลอดภัย

"ถ้าไม่ให้ความร่วมมือตรวจสอบยาก"


"ถ้าตัวผู้ว่าไม่ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบทำให้ตรวจสอบได้ยาก แม้จะตั้งประธานเข้าไปเป็นบอร์ดก็ตรวจสอบยาก หากได้บอร์ดไปแต่ผู้ว่า รองผู้ว่า ผอ.กอง ไม่ให้ความร่วมมือ ก็ตรวจสอบยาก แม้จะมีการโยกย้ายแต่ก็ไปติดที่เป็นคนรัฐบาลเดิมหมด" ดร.สังศิต กล่าวและว่า ส่วนกรณีพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตรนั้น ไม่ได้ขอเปลี่ยนจากบอร์ดการสื่อสาร มาเป็นบอร์ดการท่าอากาศ แต่เนื่องจากนายกฯต้องการให้เข้าไปดูแลในส่วนของการท่าฯ

นายสุริยะใส กตะศิลา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การไปกันว่าต้องเป็น 1 ปี หรือรอให้มีรัฐบาลใหม่ เหตุผลน้อยไปหน่อย ควรให้คุณทักษิณมาพิสูจน์ข้อกล่าวหาในชั้นศาล หากไปกันไว้ 1 ปีคนจะมองว่าเพราะยังตั้งข้อหาคุณทักษิณไม่ได้หรือไม่ และจะเป็นการตัดสิทธิ์คุณทักษิณหรือไม่ ดังนั้นนายกฯ และคุณทักษิณต้องพูดกันให้ชัดเพื่อไม่ให้มีปัญหา การหลบๆซ่อนๆแบบนี้ไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ คุณทักษิณควรทำจดหมายเป็นทางการว่าจะมาชี้แจงเมื่อไหร่ ส่วนชี้แจงเสร็จแล้วจะอยู่เมืองไทยหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"เชื่อคลื่นใต้น้ำมาจาก ทรท."


"ผมเชื่อว่าคนในไทยรักไทยเกี่ยวข้องกับคลื่นใต้น้ำ ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคเหมือนคุณจาตุรนต์ดูแล้วก็เสี่ยง ถ้าไทยรักไทยฉลาดไม่ควรเล่นเกมนี้ และคุณจาตุรนต์ก้ไม่มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จ แต่อาจเป็นการทำโดยไม่ใช่มติไทยรักไทย การนำมาอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า หรือเชียงใหม่ ก็ไม่ต่างกัน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจ เป็นความเชื่อ ความศรัทธา เพราะคุณทักษิณเป็นผู้นำมวลชน และนี่เป็นการเมือง ดังนั้นในแง่จิตวิทยาไม่ควรมาตอนนี้ ผมจึงเห็นต่างจากพล.อ.ชวลิต ที่สำคัญจะเป็นปัญหาบดบังการร่างรัฐธรรมนูญ และผมก็ไม่แน่ใจว่าจะไปจัดเวทีพิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่หากคุณทักษิณอยู่" นายสุริยะใส กล่าว

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ส่วนการยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น ตนคิดว่าเป็นการดีหากคมช.ให้ข้อมูลกับสังคมว่าพื้นที่ไหนมีคลื่นใต้น้ำอยู่ ประชาชนก็จะช่วยเป็นหูเป็นตาให้ด้วย แต่ขณะนี้เราไม่ทราบเลยคอยฟังแต่คมช.อย่างเดียวว่ายังมีคลื่นใต้น้ำอยู่ แต่โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยหากจะยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งหมด และนำพ.ร.บ.ฉุกเฉินมาใช้ เพราะการออกกฎอัยการศึกเป็นการเหวี่ยงแหและส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ในสายตาต่างประเทศ

"ให้เลิกจัดการคลื่นใต้น้ำแบบเหวี่ยงแห"


"หยุดเสียทีกับการจัดการคลื่นใต้น้ำแบบเหวี่ยงแห ควรบริหารจัดการแบบเข้าใจ อย่างกรณีสื่อสารมวลชน อสมท ของรัฐก็ควรจะจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ให้ทุกคนมีสิทธิได้พูด และอธิบายให้พนักงานเข้าใจก็คงจะให้ควรร่วมมือ ซึ่งจะช่วยหยุดคลื่นใต้น้ำได้ บรรยากาศแบบนี้ควรเริ่มได้แล้วในเดือนที่สาม การจัดการโดยใช้อำนาจกำกับอันตราย ยุคนี้เป็นยุคที่สังคมพลเมืองตื่นตัวสูง" นายสุริยะใส กล่าว

นายสุริยะใส กล่าวว่า ส่วนการตั้งทหารเข้าไปเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจนั้น ตนเห็นว่าเป็นการเปลืองตัว เช่น ตั้งแต่คุณหญิงอ้อเข้าพบพล.อ.เปรม รวมถึงทหารมานั่งบอร์ด แม้เจตนาดีแต่วิธีการผิด ดังนั้นผู้ที่เข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดต้องเปิดเผยรายงานการประชุม และแจงพันธกิจของบอร์ดให้ประชาชน สื่อมวลชนติดตามได้ ตนไม่ได้ติดใจเรื่องเงินเดือนว่าจะรับไม่รับ ตนเชื่อว่าถ้าตีความตามเจตนาของนายกฯ และประธานคมช.ที่ต้องการเข้าไปสะสางแสดงว่ารัฐวิสาหกิจมีความไม่โปร่งใส จึงควรให้แต่ละรัฐวิสาหกิจ องค์กรผู้บริโภคมีส่วนในการสรรหากรรมการบอร์ดเพิ่มเติม

"แนะ ให้คุยกับทักษิณ"


นายศุภชัย ใจสมุทร คณะทำงานด้านกฎหมายและการเมือง พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ความเป็นคนไทยของพ.ต.ท.ทักษิณก็เหมือนกับทั่วไปที่มีสิทธิเข้าประเทศ การที่เป็นคนไทยตามกฎหมายไม่มีสิทธิถูกเนรเทศ แต่คำถามว่าความเหมาะสมที่กลับเข้า ความจริงตนไม่ค่อยเห็นด้วยกับพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ ที่บอกว่าควรรอให้ถึง 1 ปีก่อนแล้วค่อยกลับ ซึ่งช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯก็เป็นที่ชื่นชมของคนทั้งประเทศ จึงควรคำนึงถึงรากหญ้าด้วย นายกฯจึงควรคิดว่าเมื่อมีแนวสมานฉันท์จึงควรสมานฉันท์กับทุกฝ่าย หากไม่อยากให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับก็น่าจะยกหูคุยกัน และเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะตัดสินใจในหนทางที่ดีที่สุดว่าอะไรเหมาะ เพราะคงไม่ต้องการให้เกิดเหตุเหตุปะทะกัน แต่นายกฯไม่ควรอ้างการประชุมเอเปกจึงไม่ให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับ

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวคงต้องยอมรับว่าประเทศไทยผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง เช่น กรณีพล.อ.ชาติชาย (ชุณหะวัณ) บรรยากาศในช่วงเวลานั้นเทียบกับบรรยากาศรัฐประหารคุณทักษิณ มีคนสงสารนายกฯทักษิณมาก แต่ถึงขนาดจะรวมกลุ่มเป็นคลื่นใต้น้ำต้านคมช.จนถึงขั้นปฏิวัติคงเป็นไปไม่ได้ เพราะทำแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร

"ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้แก้ข้อกล่าวหา"


และพรรคไทยรักไทยก็ไม่สนับสนุนอยู่แล้ว และไม่เชื่อว่าแกนนำหรืออดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยก็ไม่ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว ผู้ที่เป็นอดีตส.ส.ก็รอว่าเมื่อไหร่จะมีอิสระในการไปเยี่ยมชาวบ้าน ดังนั้นอย่าได้เป็นห่วงเลย สิ่งที่โดนกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รับชั่นต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้แก้ข้อกล่าวหา รัฐบาลและคมช.ต้องเปิดโอกาสให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ส่วนเรื่องคลื่นใต้น้ำก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแลความสงบ

ส่วนในเรื่องของบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้น ต้องยอมรับผู้ที่เข้าไปเป็นประธานบอร์ดไม่ได้คาดหวังแค่ค่าน้ำมัน แต่เป็นแหล่งของการหาประโยชน์ บางรัฐวิสาหกิจสามารถกู้ได้เป็นแสนล้าน เช่น ค่าโง่ทางด่วน ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทั้งนั้น จึงต้องพิสูจน์ว่าเข้าไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์จริงหรือไม่ วันนี้มีหลายหน่วยงานเช่น สตง. กลต. จึงควรให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลทำหน้าที่เพียงกำกับ การบริหารให้รัฐวิสาหกิจแข่งกับเอกชนได้ต้องให้มืออาชีพแทนที่จะให้ทหารเข้าไป ตนมองว่าอำนาจของ คมช. และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารค่อนข้างเบ็ดเสร็จ จึงอยากฝากว่าอำนาจบางอย่างโดยเฉพาะอำนาจเงินบางทีทำให้คนหวั่นไหวได้ หากจะให้คมช.สะอาดควรตั้งคนอื่นเข้าไป


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์