กทม.แห่กู้ช.พ.ค.6กว่า6พันราย 3เดือนรู้ผล-ชินวรณ์ยันไม่สั่งชะลอ


กรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เดินหน้าเปิดให้สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากร ทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ยื่นกู้ใน

โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ในโครงการใหม่วงเงินกู้สูงสุด 1,200,000 บาท มีระยะเวลาชำระเงินกู้ 10 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-0.50 ต่อปี และให้ผู้ยื่นกู้ต้องทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทประกันชีวิตที่ได้กำหนดไว้ โดยยึดตามความสมัครใจ รวมทั้ง ผู้กู้ต้องยินยอมให้หักเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมความมั่นคง โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.เป็นเงิน 2,000 บาท อีกทั้ง ได้เปิดให้พนักงาน และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยเอกชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก เพื่อให้สิทธิในการกู้เงินโครงการ ช.พ.ค.ใหม่นั้น

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ว่า คงไม่สั่งให้ สกสค.ชะลอโครงการ ช.พ.ค.6 เพราะยังไม่ได้ทำอะไร เป็นเพียงข่าวที่ออกมาถึงการเตรียมการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่กระบวนการทั้งหมดคณะกรรมการศึกษาวิเคราะห์การดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูทั้งระบบได้เสนอข้อมูลที่จะใช้พิจารณาแก้หนี้ครูให้ตนแล้ว ในวันที่ 16 สิงหาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะแถลงนโยบายเพื่อแก้หนี้สินเกษตรกร และหนี้สินครู จากนั้น ศธ.และกระทรวงการคลัง จะตั้งคณะทำงานร่วมกันกำหนดมาตรการแก้ไขหนี้สินครูทั้งระบบ ซึ่งจะมีแนวทางชัดเจน

นายชินวรณ์กล่าวว่า ที่นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ห่วงใยว่าการให้พนักงาน และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยเอกชน สมัครเป็นสมาชิก ช.พ.ค.และกู้เงินโครงการ ช.พ.ค.ได้ จะทำให้ปัญหาหนี้สินขยายนั้น อย่านำมาปนกัน เรื่องนี้เป็นส่วนของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นทางเลือกในการกู้ยืมเงินมาลงทุนต่างๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่โครงการ ช.พ.ค.6 ระบุให้ปล่อยกู้ได้สูงสุด 1.2 ล้านบาท เหมาะสมหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ต้องมาดูเป็นรายๆ ว่าใครจะกู้ได้เท่าไหร่ และต้องอยู่บนหลักที่ว่า ครูต้องแก้หนี้ครูด้วยตนเอง และต้องมาเป็นเครือข่ายพัฒนาชีวิตครู โดยจะหาดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำให้ รวมทั้ง การส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของครู

นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการ สกสค.กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ามีการปล่อยกู้ น่าจะเป็นการเอาแบบฟอร์มไปให้ครูเตรียมกู้ไว้มากกว่า คิดว่านายวัฒนา วรรณโสภา รองเลขาธิการ สกสค.ในฐานะที่ดูแลโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ควรจะต้องรอหาข้อสรุปเพื่อแก้หนี้สินครูระหว่าง ศธ.กับกระทรวงการคลังให้เสร็จก่อน เชื่อว่าจะทำให้ครูได้กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าที่ปล่อยกู้กันอยู่

ข้าราชการครูซึ่งเป็นสมาชิก ช.พ.ค.คนหนึ่ง กล่าวว่า ครูส่วนใหญ่สับสน เพราะขณะนี้ผู้บริหาร สกสค.เดินหน้าโครงการ ช.พ.ค.6 แต่นายชินวรณ์ระบุว่า ต้องรอนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบก่อน จึงไม่แน่ใจว่าฝ่ายการเมือง "ปากว่าตาขยิบ" หรือไม่ เพราะ สกสค.เองก็ทำเหมือน "หมูไม่กลัวน้ำร้อน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้โทรศัพท์สัมภาษณ์นายวัฒนา แต่นายวัฒนาปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ โดยกล่าวสั้นๆ ว่า ไม่ขอพูดเรื่องนี้อีก จากนั้นตัดสายทิ้ง และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่คอลล์เซ็นเตอร์ของ สกสค. หมายเลข 0-2288-4500 ภายหลังนายชินวรณ์ว่าโครงการ ช.พ.ค.6 ต้องรอนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบก่อน กลับได้รับการยืนยันว่าสมาชิก ช.พ.ค.รับเอกสารยื่นกู้ได้ตามปกติ และไม่มีคำสั่งชะลอการปล่อยกู้จากผู้บริหาร สกสค.โดยผู้ที่ยื่นกู้จะทราบผลการอนุมัติวงเงินกู้ภายใน 3 เดือน โดยขณะนี้มีผู้ยื่นกู้ในส่วนของกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา กว่า 6 พันรายแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงาน สกสค.จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับแจ้งว่าในวันที่ 10 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเพชรรัตน์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด นายวัฒนาจะไปประชุมชี้แจงแก่สมาชิก ช.พ.ค.ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ใหม่


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์