ถกปมพระวิหารเครียดกว่า3ชม.เทพมนตรีชี้ไทยเสีย50ไร่รอบปราสาท มาร์คฝากม็อบภาคีคนไทยฯรบ.เข้าใจแล้ว

ถกปมพระวิหารเครียดกว่า3ชม."เทพมนตรี"ชี้ไทยเสีย50ไร่รอบปราสาท "มาร์ค"ฝากม็อบภาคีคนไทยฯรบ.เข้าใจแล้ว

ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 8 สิงหาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐบาลได้แก่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรมว.ต่างประเทศ นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกรายการพิเศษทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ช่อง11) เพื่อพูดคุยชี้แจงกับกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ นายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายผู้ประสานงานฝ่ายไทยปี2503-2505 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ และนายวีระ สมความคิด กรณีปราสาทพระวิหารซึ่งเครือข่ายฯได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู 2543



นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า  การพูดคุยวันนี้ ไม่ใช่การดีเบต แต่เป็นการรับฟังเสียงประชาชนที่ห่วงใยว่า ประเทศไทยเสียดินแดน ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่า มีเจตนาไม่ต่างจากภาคประชาชนที่ต้องการปกป้องอธิปไตย แต่กรณีนี้ซับซ้อนและมีที่มายาวนาน จึงได้พบผู้แทนเครือข่ายฯนำมาสู่รายการนี้ที่ให้นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มของการทำงานร่วมกันของภาครัฐกับประชาชนต่อไป 



จากนั้นนายอภิสิทธิ์ พร้อมด้วยตัวแทนรัฐบาล และตัวแทนเครือข่ายฯ ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นแผนที่เขตแดนที่ไทยและกัมพูชาต่างฝ่ายต่างอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนและการที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกรวมถึงผลการประชุมกรรมการมรดกโลกครั้งล่าสุดที่บราซิล 


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้นตอปัญหาเริ่มปีพ.ศ. 2505 มีการต่อสู้ทางคดี ซึ่งไทยถือว่า เขตแดนกำหนดโดยสนธิสัญญาซึ่งยึดสันปันน้ำ ตอนนั้นฝ่ายไทยมั่นใจว่า ปราสาทเป็นของไทย ส่วนกัมพูชา ต่อสู้โดยอ้างอิงแผนที่ ที่เรียกกันว่า แผนที่ 1 : 200,000 ที่ทำโดยฝรั่งเศส ซึ่งไทยโต้แย้งว่า รุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย และไม่ใช่เป็นไปตามที่ตามคณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญากำหนด ตอนนั้นศาลโลกวินิจฉัยว่า 1.ศาลไม่ได้ตัดสินก้าวล่วงว่า เขตแดนไทยกัมพูชาอยู่ตรงไหน 2 .ศาลไม่ได้รับรองแผนที่ของกัมพูชา แต่อ้างว่า ไทยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน และได้ตัดสินว่า ตัวปราสาทอยู่เป็นของกัมพูชา ตอนนั้นรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ เคารพมติศาลโลกและออกมติครม.เป็นแนวปฏิบัติเรื่องปราสาท แต่พื้นที่รอบๆปราสาทไม่ได้ยอมรับและขอสงวนสิทธิ์ต่อคำพิพากษา ตนเคยอภิปรายในสภาแบบนี้ และตอนนี้ก็ยืนยันเหมือนเดิม และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ก็พยายามค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมตลอด 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังฟังคำชี้แจง ตัวแทนเครือข่ายฯต่างระบุว่า เข้าใจตรงกัน จากนั้น นายปานเทพ และนายเทพมนตรี ตั้งข้อสังเกตว่า มติครม.ปีพ.ศ. 2505 ได้กั้นรั้วทิศเหนือและตะวันตกของปราสาท โดยรั้วนั้นไม่ใช่เส้นเขตแดน ซึ่งต่อมาในยุคปัจจุบัน แผนที่ตรงนี้คือแผนที่ แอล 7017 ที่ฝ่ายไทยยึด แต่ในสมัยรัฐบาลที่แล้วที่นายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศ ปี 51 มติกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ที่ควิเบก แคนาดา ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้ไทยเสียพื้นที่โดยรอบปราสาทไปแล้วในเบื้องต้น 50 ไร่


นอกจากนี้ นายเทพมนตรี ได้นำเอกสารกระทรวงต่างประเทศ วันที่ 20 มิถุนายน 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ลงนามโดยอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่ชี้แจงถึงราชเลขาธิการมาแสดง โดยระบุว่า ในเอกสารฉบับนี้มีแผนผังและมีคำชี้แจงว่า ไม่สามารถเอาพื้นที่รอบปราสาทดังกล่าวคืนมาได้แล้ว จุดนี้ทำกัมพูชาเข้าใจว่า ไทยยอมรับแล้ว



ขณะที่ นายสุวิทย์ ชี้แจงว่า กล่าวว่า ตอนนั้นฝ่ายไทยทำเรื่องคัดค้านไว้ที่ควิเบกว่า การขึ้นทะเบียนไม่ชอบ เพราะการเสนอไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีขอบเขต คราวนี้ครั้งที่ 34 ที่บราซิลฝ่ายไทยก็ทำเรื่องคัดค้าน เพราะความไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดน โดยยกกรณีเยรูซาเล็มที่ขึ้นทะเบียนทั้งที่ขอบเขตไม่ชัดจึงมีปัญหา ซึ่งการที่กรรมการมรดกโลกให้กัมพูชาเสนอรายละเอียดของขอบเขตแผนที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง นี่แสดงว่า แผนที่ยังไม่ชัด แล้วดันทุรังขึ้นทะเบียนไป ดังนั้น 50ไร่รอบปราสาทนั้น คือฝ่ายไทยส่งหนังสือทักท้วงว่า ไม่ได้ยอมรับ


นายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่มีการกล่าวหาว่า รัฐบาลไม่สนใจ และมาทำตอนไฟลน รัฐบาลไม่ใช่ไฟลนก้นแล้วทำ แต่เตรียมตัวคัดค้านมาตั้งนานแล้วตั้งแต่สมัยปี 51 ต่อเนื่องมาถึงปี 52 ที่สเปน มาถึงที่บราซิล ตนเอาแผนที่เอาภาพที่มีการวางกำลังของกัมพูชาไปให้ยูเนสโกดู ว่า มีการรุกล้ำ มีปัญหา แล้วกรรมการมรดกโลกจะเพิ่มปัญหาอีกหรือ ฉะนั้นขอให้หยุด ล็อบบี้จนเลื่อนมาที่บราซิล จากนั้นก็ไม่ได้หยุด คือ ทำหนังสือตามอีกว่า ขอเอกสารทั้งหมด ตามไปประชุมกับยูเนสโก จนมีรูปกับผอ.ยูเนสโกหลายสิบรูปแล้ว และรณรงค์ให้มีตัวแทนไทยเข้าไปเป็นกรรมการมรดกโลก เพื่อให้พูดในที่ประชุมได้ ก็เข้าไปได้ ทำจนวินาทีสุดท้าย กรรมการส่งวาระมา ไม่มีเอกสารประกอบ ก็ทำหนังสือสงวนสิทธิ์ ย้ำกับผอ.ยูเนสโกหลายรอบว่า ต้องทำให้เขตแดนชัดก่อน สุดท้ายกรรมการมรดกโลกจึงเลื่อนไปอีก 1 ปี  พร้อมขอยืนยันว่า มติ 5 ข้อที่เซ็นที่บราซิล เป็นเอกสารดังกล่าวเป็นร่างข้อมติของประธานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งไม่มีข้อผูกพัน โดยทั้ง 5 ข้อนั้นมติเดิมที่เคยตกลงไว้ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ไม่ใช่มติใหม่ แต่มีข้อหนึ่งเป็นข้อมติที่ให้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นปีหน้า และดูแล้วว่า ไม่ให้มีข้อผูกพันให้กัมพูชานำไปขึ้นศาลโลกวันข้างหน้าดังนั้นถือว่าเป็นผลประโยชน์ของฝ่ายไทย ถ้าไปลงมติตามข้อเสนอ 7 ข้อของกัมพูชาต่างหากจะเป็นการยอมรับว่าที่ประชุมเห็นชอบตามกัมพูชาและทำให้ การขึ้นทะเบียนมีความสมบูรณ์



ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนั้นรัฐบาลนี้ยังไม่เข้ามา แต่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาแล้ว พอเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องจึงพยายามแก้ไขอยู่   ตอนนี้เครือข่ายฯกับรัฐบาลเห็นตรงกันเกี่ยวกับแผนที่ และปัญหาหลังจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยรัฐบาลเห็นว่า มตินั้นไม่ถูกต้อง แต่ฝ่ายไทยไม่ควรยอมรับว่า เสียเขตแดนไปแล้ว เพราะยูเนสโกและกรรมการมรดกโลกมีจุดยืนอยู่ตลอดว่า จะไม่ขึ้นทะเบียนในสิ่งที่จะมีปัญหาเรื่องเขตแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ฝ่ายไทยก็ยื่นเรื่องคัดค้านเอาไว้เป็นหลักฐานไว้เสมอ เพราะกลัวว่า จะเหมือนปีพ.ศ. 2505 ที่ไม่ได้ทักท้วงและเกิดปัญหา ซึ่งปีต่อมา กรรมการมรดกโลกก็ขอแผนบริหารจัดการพื้นที่จากกัมพูชา แต่กัมพูชาก็เสนอโดยส่งแผนที่ทีมีปัญหาพิพาทไปด้วย ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ส่งเรื่องคัดค้าน ทั้งนี้ ใครเห็นแผนที่ก็ไม่สบายใจ แต่มันเป็นการกระทำของฝ่ายอื่น  ฉะนั้น เห็นอะไรอย่าเพิ่งตื่นเต้น และต้องช่วยยืนยันว่า ฝ่ายไทยไม่ยอมรับอะไรที่มันผิด เพราะฝ่ายไทยจะเสียถ้าไม่คัดค้าน


“เอกสารต่างๆ มติต่างๆต้องแยก โดยแยกจุดยืนประเทศไทย กับมติกรรมการบริหารมรดกโลก โดยคราวนี้ เราทำหนังสือถึงกรรมการทักท้วงว่า รับอะไรไม่ได้บ้าง ที่มันยากคือต้องชั่งใจว่า หากไม่เอา 5 ข้อนี้  แล้วกัมพูชายก 7 ข้อเดิมของเขาขึ้นมา หากเราแพ้แล้วจะทำอย่างไร จึงต้องชั่งใจ ว่า ถ้าประนีประนอม แล้วไม่เสีย มันจะดีไหม ซึ่งพอผลออกมาแบบนี้ จึงย้ำให้เข้าใจว่า ตอนนี้ กัมพูชา กรรมการมรดกโลก หรือยูเนสโก จะทำอะไรในพื้นที่ติดตัวปราสาทไม่ได้หากไม่ได้อนุญาตจากรัฐบาลไทย เพราะ 5 ข้อดังกล่าว เป็นร่าง และยังไม่พิจารณาจนกว่าจะถึงการประชุมครั้งหน้า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว



ทั้งนี้ ในการพูดคุยดังกล่าวใช้เวลา กว่า 3 ชม. ซึ่งบรรยากาศค่อนข้างเป็นไปอย่างเข้มข้นและตึงเครียดพอสมควร




"มาร์ค" มั่นใจ "ภาคีคนไทยฯ" เข้าใจ โยน "สุวิทย์" รับช่วงต่อ


ต่อมา เมื่อเวลา 13.10 น.  นายอภิสิทธิ์  ให้สัมภาษณ์ภายหลังการสนทนากับกลุ่มตัวแทนภาคีคนไทยหัวใจรักชาติว่า จากการพูดคุยกันก็น่าจะมีความเข้าใจกันดีขึ้น เพราะน่าจะเห็นแล้วว่าหลายเรื่องมองตรงกัน เพียงแต่รายละเอียดการทำงานของแต่ละหน่วยก็จะต้องมาปรับความเข้าใจกันอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ตนยืนยันคือรัฐบาลได้รับฟังควมคิดเห็นและความห่วงใยของภาคประชาชน รวมถึงในอดีตที่ผ่านมาอาจมีปัญหาการปฏิบัติอยู่หลายจุดก็ต้องปรับปรุงแก้ไข แต่ในภาพรวมวันนี้บรรยากาศก็เป็นไปด้วยดีหลายเรื่องมองตรงกันโดยเฉพาะข้อกฎหมายและจะมาหารือและทำงานกันอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่จะให้เห็นด้วยกันทั้งหมด 100% คงไม่ได้ เช่น  เรื่องของMOU ตนก็ชี้ให้เห็นชัดเจนประโยชน์คืออะไร ส่วนภาคประชาชนก็บอกถึงข้อห่วงใยอะไร แต่บางเรื่องตนไม่สามารถไปสร้างหลักประกันได้ เช่น ความห่วงใยว่าหากเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปแล้วการใช้ การตีความอะไรก็เป็นเรื่องกระบวนการของประชาธิปไตยอยู่แล้ว


เมื่อถามว่าหลังจากนี้การให้ข้อมูลเชิงกล่าวหาจะลดลงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่จะไปตอบแบบเต็มปากเต็มคำคงไม่ได้อยู่ที่แต่ละฝ่ายมากกว่า ทางรัฐบาลเราไม่มีการไปกล่าวหาใครอยู่แล้ว ยืนยันชี้แจงในสิ่งที่เป็นความเชื่อขอรัฐบาล และการทำให้ดีที่สุดในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ  และคิดว่าการแปลความแตกต่างจนกลายมาเป็นเอกภาพตรงนี้จะมีประโยชน์ต่อการต่อสู้กรณีปราสาทพระวิหาร


“การที่ผมได้อันเชิญกระแสพระราชดำรัสฯมานั้น ก็เตือนสติว่าที่สุดแล้วความสามัคคีมีความสำคัญมากในการที่เราจะปกป้องประเทศ เพราะฉะนั้นมีอะไรที่ยังเห็นแตกต่างก้อยากให้ใช้วีการเข้ามาพูดคุย ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีปัญหาระหว่างกัน เพราะเป้าหมายตรงกันอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว


เมื่อถามว่าการหารือกันอีกครั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความจริงในส่วนของนายสุวิทย์ เป็นประธานที่ดูแลเรื่องของมรดกโลก ก็จะต้องเชิญภาคส่วนต่างๆเข้ามารับฟังความคิดเห็นเป็นระยะๆ ถ้ามีประเด็นที่จะต้องนำเอากรอบการเจรจา บันทึกการประชุมข้อตกลงอะไรเข้าสภาก็ควรจะต้องมีการประชาพิจารณ์



เมื่อถามว่าการชุมนุมที่ยังมีอยู่ที่บริเวณกองทัพภาคที่ 1 จะดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าทางเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่และได้กำชับไปว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งตนยังไม่ได้สอบถามนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายเลยว่ามีการชุมนุมต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร คงต้องถามนายวีระ แต่ตนก็อยากฝากบอกไปถึงผู้ที่ชุมนุมว่าเราได้รับทราบความห่วงใยและความต้องการของประชาชน และเดินหน้าในการทำงานซึ่งต้องมีวิธีการ และการใช้หน่วยงานต่างๆ และขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลต้องการจะทำในสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนอย่แล้ว และหวังว่าต่อจากนี้ไปความเข้าใจระหว่างคนในชาติจะดีขึ้น



"สุวิทย์"โล่งเผชิญหน้า เล็งขอ"มาร์ค"ตั้งที่ปรึกษาปชช.ฯ อีกชุด


ต่อมาเมื่อเวลา   13.30 น.  นายสุวิทย์  ให้สัมภาษณ์ภายหลังการร่วมรายการพิเศษกับภาคีคนไทยหัวใจรักชาติ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยว่า ทุกคนได้พูดถึงความเห็นของตัวเองชัดเจนและต้องขอบคุณว่าสิ่งที่เราไปทำ มานั้นถูกต้องแล้วและเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตนรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการเกิดความเข้าใจผิดบางครั้ง บางเรื่อง แต่คงพูดไม่ได้ทั้งหมด ในการดำเนินการ แต่ทั้งหมด การคัดค้าน กระบวนการที่เป็นห่วงทั้งหมด มีการยื่นเป็นเอกสาร มีลายลักษณ์อักษร และเอกสารที่อ้างว่ามีการลงนามผูกพันนั้นก็ไม่มีการผูกพันอะไรเลย ซึ่งวันนี้เราเดินมาถึงจุดที่เราได้ขยายเวลา และโอกาสในช่วงทีผ่านมาเราได้ทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้อง ภาคีอนุสัญญามรดกโลก  และคณะกรรมการมรดกโลก

            

“ ใครสงสัยและอยากรู้รายละเอียดก็ยินดีนั่งคุยด้วยทุกอย่างก็จะอธิบายให้ฟังแต่บางเรื่องเป็นกระบวนการทางด้านเทคนิคที่นำไปสู่การเจรจาต่อรองคงพูดทั้งหมดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเราจะไปต่อรองกับเขาไม่ได้  เหมือนเราแก้ผ้าไปหาเขา เขาจะเห็นหมด จุดอ่อนจุดแข็งเราอยู่ตรงไหน ต้องมีขอบเขตยาง แต่รายละเอียดที่ยังติดใจก็คุยกันได้ และการตีเบทเป็นการแสดงความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ความเห็นที่แตกแยก มันไม่ได้เป็นการทะเลาะคนอาจมีความเห็นไม่เหมือนกันได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่อย่าไปถือว่าเมื่อเห็นต่างจะต้องเป็นคนละฝ่าย เป็นศัตรูกัน ไม่ใช่ อยากให้คิดใหม่ว่าความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์ เอามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้” นายสุวิทย์ กล่าว


นายสุวิทย์ กล่าวว่า  นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนไปตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมา 1ชุดเพื่อเดินหน้าในเรื่องปราสาทพระวิหารต่อ โดยจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตั้งกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชน เพื่อจะเชิญชวนทุกฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมให้ข้อมูล ส่วนคณะกรรมการชุดที่มีอยู่แล้วก็ให้ดำเนินการต่อไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์