"แปลกใจจิ๋ว"
จากการที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาติติงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และเห็นด้วยที่จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยนั้น นักการเมืองหลายฝ่ายรวมทั้งรัฐมนตรีกลับแสดงท่าทีแปลกใจว่า พล.อ.ชวลิตต้องการอะไรถึงออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
สุรยุทธ์ ปัดไม่รู้เรื่อง จิ๋ว
เมื่อวันที่ 12 พ.ย.เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง ว่า พล.อ.ชวลิตมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารก็รับฟังและจะได้นำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ พล.อ.ชวลิตออกมาเคลื่อนไหวมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ นายกรัฐมนตรีตอบว่า ผมไม่ทราบ เพราะว่าท่านไม่ได้พูดกับผม คงตอบได้แค่นั้น เพราะว่าท่านไม่ได้พูดกับผมเอง
ย้ำ ทักษิณ กลับไทยต้องใช้เวลา
เมื่อถามต่อว่า การที่ พล.อ.ชวลิตอยากจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเข้าประเทศไทย พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า เป็นสิ่งที่ได้พูดตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณด้วยที่จะกลับเข้ามา ส่วนห้วงเวลาในการกลับก็ขอให้ได้มีการพูดคุยกันก่อนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใดนั่นคงจะเป็นเรื่องที่หาทางที่จะแก้ไข เพราะกลับมาแล้วมันมีปัญหาที่จะทำให้หลักคือความปรองดองของคนในชาติจะเป็นไปได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญคือความต้องการความปรองดองของคนในชาติ ถ้าเข้ามาแล้วเกิดมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าน่าจะได้ให้การสนับสนุนใดๆ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติขึ้นอีกมันจะเหมาะหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องพูดจาทำความเข้าใจกันก่อนระหว่างตนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชี้เหมาะสมที่สุดคือหลังเลือกตั้ง
ต่อข้อถามว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาแล้วจะให้อยู่เฉพาะภายในบ้านใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ก็เป็นการจำกัดสิทธิท่านอีก เป็นการควบคุมท่านอยู่ในบ้าน ผมคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น พูดกันตรงๆ ก็คือว่าเดี๋ยวจะกลายเป็นเหมือนประเทศเพื่อนบ้านของเรา ผมคิดว่าไม่ดี แต่ทางที่ดีคือว่ารอให้การแก้ปัญหามันผ่านไปช่วงระยะเวลา 1 ปี ผมคิดว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่แล้ว ช่วงนั้นจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะกลับมา ในช่วงนี้น่าจะดูก่อนว่าเราจะแก้ไขกันอย่างไร ในช่วงปลายๆ ที่มีรัฐธรรมนูญ มีประชามติแล้ว มีการจัดการเลือกตั้งแล้ว ช่วงเหล่านี้ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เราน่าจะพูดคุยกันได้ นายกฯ กล่าว