อภิสิทธิ์ ให้"มท.-ไอซีที-กฤษฎีกา" ร่วมหารือแก้ปัญหาบัตรสมาร์ทการ์ดกว่า 26 ล้านใบผิดกฎกระทรวงมหาดไทย "ชวรัตน์" ลั่นไม่แก้กฎหมายรับรอบความผิด เผยออกให้ปชช.แล้ว 6 แสนใบ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 1 ตีความระบุว่าบัตรประจำตัวประชาชนที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบอเนกประสงค์ หรือ "บัตรสมาร์ทการ์ด" ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ส่งมอบล็อตใหม่ให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยนั้นผิดรูปแบบไปจากที่กฎกระทรวงฉบับที่ 22 กำหนด
นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกายังชี้อีกว่า บัตรสมาร์ทการ์ดที่ออกให้ประชาชนนำไปใช้แล้ว 600,000 ใบ
หลังจากที่แก้ไขเพิ่มเติมแบบบัตรครั้งสุดท้ายโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ.2550) เช่นเดียวกับบัตรที่เป็นปัญหาขณะนี้ ก็ไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวงดังกล่าวเช่นกัน 2 จุด คือ 1.มีลายพระบรมมหาราชวังอยู่ด้านหน้า 2.มีลายแผงวงจรอยู่ด้านบนซ้ายหลังบัตร ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีได้สั่ง 3 ฝ่ายร่วมกันหารือแก้ปัญหา
โดยนายชวรัตน์ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.ว่า หลังหารือกับนายกรัฐมนตรี ทางนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรจะหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย
คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงไอซีที และกฤษฎีกา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออกว่าควรจะทำอย่างไรเพราะเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมาย แต่ถ้าจะให้แก้กฎกระทรวงเพื่อรับรองความผิดที่เกิดขึ้นแล้วคงทำไม่ได้
มาร์คสั่งมท.-ไอซีที-กฤษฎีกาถกแก้ปมบัตรสมาร์ทการ์ดผิดกม.
รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องบัตรสมาร์ทการ์ด
โดยยึดรูปแบบเก่ามาเปรียบเทียบว่าการจัดพิมพ์ครั้งก่อนนั้นผิดรูปแบบ เพราะท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ 22 ไม่ได้กำหนดให้มีรูปภาพพระบรมมหาราชวังที่ด้านหน้าและด้านหลังของบัตร เพราะข้อกำหนดดังกล่าวนั้นอยู่ในกฎกระทรวงฉบับที่ 21 และถูกยกเลิกโดยฉบับที่ 22 เรื่องนี้กฤษฎีกาเองควรจะทราบดีว่า ในช่วงร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 22 กระทรวงมหาดไทยได้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เป็นผู้แนะนำให้ไม่ควรกำหนดรูปภาพระบรมมหาราชวังที่ด้านหน้าและด้านหลังของบัตร ไว้แนบท้ายกฎกระทรวง เนื่องจากว่าหากพิมพ์ผิดเพี้ยนไปจากที่กำหนดจะถือเป็นความผิดได้ จึงให้บัตรมีสีขาว ลายพื้นสีฟ้าแทน ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงได้กำหนดรายละเอียดของบัตร โดยสีฟ้าที่ปรากฏให้เห็นเป็นภาพพระบรมมหาราชวังทั้งด้านหน้าและด้านหลังนั้น จึงไม่ใช่รูปภาพ แต่เป็นลายสีฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องของความปลอดภัยในการปลอมแปลงบัตร โดยลวดลายที่เห็นนั้นเกิดจากลายเลขาคณิตที่นำมาซ้อนกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับภาพต้นแบบที่ได้มานั้น เป็นภาพที่ได้มาจากการจัดการประกวดภาพบนบัตรประชาชน
ตั้งแต่มีการจัดให้มีการผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดเป็นครั้งแรก และใช้ยึดเป็นภาพต้นแบบเรื่อยมา และสิ่งที่เป็นข้อครหาในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องบัตรเก่าที่ผลิตและใช้จนหมดสิ้นแล้ว แต่เป็นเรื่องบัตรใหม่ที่ผลิตมาแต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเส้นสีแดงนั้นไม่มีกำหนดอยู่ในแนบท้ายกฎกระทรวง แต่ในกฎกระทรวงระบุชัดเจนว่าลักษณะของบัตรต้องมีสีขาว ลายพื้นสีฟ้า ดังนั้นสีฟ้าที่ปรากฏบนบัตรจึงเป็นลาย ไม่ใช่ภาพ และสามารถพิสูจน์ได้ พร้อมบันทึกข้อเสนอแนะของกฤษฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดเมื่อปี 2550 ที่ยึดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 22 มีการผลิตบัตรและใช้หมดแล้ว จำนวน 26 ล้านบัตร ราคาบัตรละ 38 บาท รวมทั้งสิ้น 988 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงไอซีทีเป็นผู้จัดซื้อ โดยมีบริษัทวีสมาร์ทเป็นคู่สัญญา เช่นเดียวกับบริษัทที่เป็นคู่สัญญาในปัจจุบัน
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า คงต้องรอคำสั่งอย่างเป็นทางการจากนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ถึงการดำเนินการต่อไป
แต่เบื้องต้นคงมีคำถามพร้อมทั้งขอข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแบบกว้างๆ ว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้บ้าง อย่างไรก็ตาม บัตรสมาร์ทการ์ดที่กระทรวงไอซีทีส่งมอบให้กรมการปกครอง 2 ล็อต ล็อตละ 300,000 ใบ รวมเป็น 600,000 ใบนั้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 21 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมกับที่กระทรวงไอซีทีจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับกิจการร่วมค้าวีเค ผู้ชนะการประมูลไปแล้วจำนวนหนึ่ง และการชำระค่างวดหลังจากส่งมอบงานในแต่ละงวด อย่างไรก็ตาม ไอซีทีได้ลงนามเซ็นสัญญาว่าจ้างเอกชนเพื่อผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดจำนวน 26 ล้านใบ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 กำหนดต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ 540 วัน นับถัดจากวันลงนาม คือ ภายในวันที่ 21 ธันวาคม 2553 โดยมีมูลค่าโครงการรวม 902.15 ล้านบาท
"ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีได้รับมอบงานในงวดที่ 1 (ออกแบบบัตร) ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมภายใน 180 วัน ออกไปอีก 131 วัน การส่งมอบงวดที่ 2 จำนวน 5 ล้านใบ (ที่เป็นปัญหากระทรวงมหาดไทยไม่รับมอบ) และอยู่ระหว่างผลิตงวดที่ 3 อีก 4 ล้านใบ คาดว่าจะส่งมอบได้ในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้" นายสือกล่าว