ศอฉ.รายงาน ครม. เสื้อแดงไม่หยุดป่วน ขณะที่ 5 จังหวัดที่ยกเลิกแล้ว ไม่พบการเคลื่อนไหว นายกรัฐมนตรี ห่วง อ้าง พรก.ฉุกเฉินมั่ว สั่ง สมช.เคลียร์ขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2553 ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ที่ประชุมได้ใช้เวลาพิจารณาการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินบางพื้นที่เพิ่มเติม โดยใช้เวลาพิจารณาเพียงสั้น ๆ โดยทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ในฐานะ รอง ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ ผอ.ศอฉ. ที่ติดภารกิจปฏิบัติราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้อ่านรายงานสรุปของ ศอฉ.จำนวน 2 หน้ากระดาษประเมินสถานการณ์ หลังการยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากจำนวน 24 จังหวัด เหลือ 19 จังหวัด และที่ยกเลิกเพิ่มอีกจนเหลือ 16 จังหวัด ซึ่งโดยภาพรวมทาง ศอฉ.เห็นว่าพบว่ายังมีความเคลื่อนไหวอยู่
คือ 1. มีการเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมืองในลักษณะกลุ่มย่อย 2 . แม้จะยังมี พ.ร.ก.อยู่แต่มีการเปิดสื่อใหม่ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีผ่านดาวเทียม วิทยุชุมชน 3.ความเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ก่อความวุ่นวายในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นจุด ๆ 4. มีการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ 5. ยังมีการยุงยงปลูกฝังแนวความคิดทางการเมืองในหมู่เยาวชน 6.การยุงยงสร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ 7.มีสิ่งบ่งเหตุการก่อวินาศกรรม การข่มขู่ฆ่า ลอบทำร้ายบุคคลสำคัญ ถ้ามีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อใด กลุ่มนปช.จะกลับมาชุมนุมทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ยังรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ทาง ศอฉ. ได้ประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ที่ได้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้ว
จากการตรวจสอบปรากฏว่า ไม่พบว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ประชาชนไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม เนื่องจากเป็นห้วงเวลาที่อยู่ในช่วงฤดูกาลการเพาะปลูก รวมทั้งแกนนำสำคัญเป็นจำนวนมากถูกจับกุม เหตุผลสำคัญที่การเคลื่อนไหวในท้องถิ่นไม่มี เพราะขาดเงินทุนในการเคลื่อนไหว สำหรับข้อพิจารณาเรื่องการการประกาศยกเลิกพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น ทางแม่ทัพภาคที่ 1 2 และ 3 และ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง เห็นว่าสมควรที่จะให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพิ่มเติม ใน 1 จังหวัดในภาคเหนือ คือ จ.ลำปาง และในพื้นที่ 2 จังหวัดในภาคอีสาน คือ จ.สกลนคร และ ร้อยเอ็ด เพราะไม่มีการเคลื่อนไหวของแกนนำ และ ประชาชน ไม่ปรากฏสิ่งบอกเหตุ การสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดี และ กำลัง และ อำนาจของเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงตามสายงานปกติเพียงพอรองรับสถานการณ์ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.ได้ลงมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ใน 3 จังหวัด ตามที่ ศอฉ.เสนอ
โดยไม่มีรัฐมนตรีคนใดตั้งข้อสังเกตอื่น ๆ โดย นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไปจัดทำรายละเอียดขอบเขตอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นห่วงว่า ขณะนี้มีความสับสนทั้งการพูดจาและความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ในการใช้อำนาจของ ศอฉ. และ เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมผู้กระทำผิดกฎจราจร แต่ยังไปอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงขอให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ไปจัดทำรายละเอียดขอบเขตอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาให้ชัดเจนด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอกำชับให้เจ้าหน้าที่มีการรายงานการปฏิบัติหน้าที่ว่าแต่ละพื้นที่มีสถานการณ์เป็นอย่างไร หลังจากที่ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไป
อ้างมั่วพ.ร.ก. มาร์คสั่ง เคลียร์ขอบเขต
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!