กก.เซ็นเซอร์แจงมีภาพธงชาติไทยฉีกขาด ต้นเหตุแบนสปอต "ขอโทษประเทศไทย" อ้างผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ส.ว.ใช้เวที กมธ.รุมจี้"มาร์ค"ใช้กฎหมายฟันขบวนการล้มสถาบัน นายกฯได้ทีรับเป็นเหตุต้องคง ศอฉ.ไว้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงแผนปรองดองและแนวทางการปฏิรูปประเทศ
ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อ.ณพฤษภ์ มัณฑะจิตร ส.ว.สรรหาเป็นประธาน กมธ. ในการประชุมเมื่อสายวันที่ 19 กรกฎาคม ที่รัฐสภา
นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า ภาพรวมของแผนปฏิรูปประเทศ 5 ข้อ มีหลักคิดคือ สภาพปัญหาบ้านเมืองสะท้อนความขัดแย้ง และบางส่วนนำไปสู่ความรุนแรง
ที่สำคัญความขัดแย้งที่นำไปสู่ปัญหาแบบนี้ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ใช่เพียงครั้งใดครั้งหนึ่ง สิ่งที่พยายามจะทำคือ หยิบเอาตัวพื้นฐานของความขัดแย้ง และรวมพลังคนในสังคมเพื่อให้พ้นจากวงจรนี้ไป คือ 1.การจะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความปรองดอง ความจริงบ้านเมืองมีสถาบันหลักชาติ เป็นศูนย์รวม หล่อหลอมรวมจิตใจ แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมาถูกบางฝ่ายนำเข้ามาเกี่ยวพันทำให้มีปัญหา แผนนี้ต้องการทำอย่างไรให้สถาบันนี้เชิดชูอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งหลาย ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้น 4-5 ปียุติลงได้อย่างไร ส่วนข้อ 2-5 เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องของสื่อสารมวลชน ถูกนำมาใช้ในการสร้างความขัดแย้ง บางครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือ มีเรื่องรัฐธรรมนูญ มีเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีคณะกรรมการชุดไหนบอกว่าเป็นคณะกรรมการปรองดอง เพราะสิ่งที่ทำไม่ได้บอกว่าการปรองดองเป็นเรื่องระหว่างบุคคล สี หรือระหว่างพรรค แต่การปรองดองไม่ใช่การประนีประนอม ยอมความ เกี้ยะเซียะกัน หรือเอา 1 มา หาร 2 แต่เป็นการขจัดปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรม เหตุผล ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมจะเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆ
"การทำงานแก้ไขความปรองดองยืนอยู่บนหลักการว่า สังคมไหนไม่สามารถอยู่ด้วยความสงบสุข หากไม่บังคับใช้กฎหมาย การเดินหน้าแผนปรองดอง จำเป็นต้องบังคับกฎหมาย กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมก็สามารถแก้ไขได้ และสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยการปรองดองกันแล้วไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายคงไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ด้วยระบบ ไม่ใช่ด้วยการยกเว้นการใช้กฎหมาย" นายกฯกล่าว
อ้างภาพธงชาติไทยฉีกขาด เหตุแบนสปอต ขอโทษปท.ไทย
หลังการชี้แจง กมธ.ชุดนี้ได้ประชุมลับประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลนายอภิสิทธิ์ เกี่ยวกับขบวนการล้มสถาบัน
และเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความเข้าใจในบทบาทของสถาบันต่อสังคมมากกว่านี้ รวมถึงให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่จาบจ้วงสถาบันเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ขณะที่นายอภิสิทธิ์ระบุยังมีขบวนการเคลื่อนไหวการจาบจ้วงสถาบัน จึงจำเป็นต้องคงศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อให้ควบคุมดูแลเรื่องนี้ต่อไป
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์กรณีนักวิชาการวิจารณ์รัฐบาลเข้าใจผิดที่เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยด้วยการมุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากปัญหาแท้จริงเกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถเข้าถึงอำนาจ ว่า เป็นสิ่งที่ตรงกับความเห็นอยู่แล้ว เพราะเคยบอกแล้วว่าเวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำอย่าไปมองในแง่มุมเรื่องรายได้ หรือเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะบางครั้งเป็นความรู้สึกเรื่องการได้รับการปฏิบัติ เช่น ช่องว่างระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือมีการปฏิบัติกับประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างไม่เท่าเทียมกัน ขอย้ำว่าบางเรื่องเป็นความรู้สึก แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ก็เป็นปมปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องรับเอาความจริงมาว่ามีความรู้สึกในลักษณะนี้ และถือเป็นหัวข้อสำคัญในการปฏิรูปว่าต้องไปถึงเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้เข้ามาศึกษาวิจัย สำรวจ และตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดมากขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้คณะทำงานชุดต่างๆ ทำงานได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
วันเดียวกัน คณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา จัดเสวนาเรื่อง "ก้าวต่อไปประเทศไทย : บทบาทสื่อมวลชนกับการสร้างความปรองดอง" ที่รัฐสภา โดย นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การปิดสื่อถือว่าไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเปิดเสรีจะนำมา ซึ่งข้อมูลหลากหลายที่จะคะคานกันเอง นอกจากนี้ วันนี้สื่อไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนก็ต้องทบทวนการทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมาว่า รอบด้านเพียงพอหรือไม่
นายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่สังคมไทยเผชิญหน้า เป็นเพียงจุดเริ่มระยะแรกๆ ของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
ซึ่งไม่รู้ว่าจุดจบคืออะไร แผนปรองดองของรัฐบาล เป็นเพียงวาทกรรมที่ต้องการลากให้ผ่านงบประมาณปี 2554 การโยกย้ายข้าราชการและนายทหารประจำปี ที่จะนำไปสู่การยุบสภาช่วงต้นปีหน้า แต่นั่นไม่ถือเป็นการหมดวิกฤต และจะเกิดความขัดแย้งคู่ใหม่ระหว่างมวลชนที่สนับสนุนเสื้อแดงและเหลือง ต่อสู้กับนักการเมืองในระบบ และความขัดแย้งคู่ใหม่นี้รัฐบาลก็ยังตอบไม่ได้ แต่ตนยังคิดว่า การมีสื่อเลือกข้างและกลุ่มสนับสนุนทางการเมือง ยังควรมี เพราะในที่สุดแล้ว วัฒนธรรมการเสพสื่อจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดแล้วประชาชนก็จะคัดกรองเลือกเสพได้เอง
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อความปรองดองไม่เกิดประโยชน์
เพราะท้ายสุดจะเป็นเพียงวิทยานิพนธ์ ความปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ส.ว.ไปยื่นหนังสือที่ ศอฉ.ก่อนสลายชุมนุม ขนาดสื่อจะทำข่าวเกี่ยวเรื่องนี้ ก็ยังไม่อนุญาต ทุกวันนี้ประเทศไทยปกครองเหมือนกับแดนสนธยาที่ไม่รู้ว่าใครพูดจริงหรือไม่จริง อีกทั้งคนที่มีอำนาจอยู่ในมือไปตีหัวเขาแล้วมาตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก ความปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้น
พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ ส.ว.อุดรธานี กล่าวว่า บ้านเมืองที่แตกแยก เพราะมีการไปกล่าวหาว่า อีกฝ่ายล้มสถาบัน และดูถูกคนอีสานว่า สามารถซื้อได้
ขอร้องว่า อย่าใส่ร้ายกันหรือไปเหมารวมทั้งหมด การที่บางคนชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะอาจประทับใจการทำงาน แต่บางคนไปตอกย้ำ ด่าคนที่ชอบอยู่ทุกวันโดยเฉพาะในสื่อของรัฐ ตรงนี้ควรก้าวข้ามได้แล้ว ถ้ารัฐบาลถ้ายังทำเรื่องใส่ร้าย หรือย้ำถึง พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เรื่อยๆ ความปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้น
รายงานข่าวจากคณะกรรมการเซ็นเซอร์ เปิดเผยว่า ในการพิจารณาสปอตโฆษณาชุด "ขอโทษประเทศไทย" นั้น
คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนสถานีโทรทัศน์ช่อง 3,5,7, โมเดิร์นไนน์ทีวี มหาวิทยาลัยหลายแห่งและสมาคมโฆษณามีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้นำออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ เนื่องจากเห็นว่าในโฆษณามีภาพธงชาติไทยฉีกขาด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 วงเล็บ 4 ห้ามไม่ให้แพร่ภาพสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยก เสื่อมเสีย หรือความสามัคคีในหมู่ประชาชน