เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 กรกฎาคม ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์
คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท กรณีกล่าวหาว่าบ่ายเบี่ยงการยื่นถวายฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และใส่ความว่านายกรัฐมนตรี สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์เดือนเมษายน 2552
โดยนัดนี้โจทก์มีนายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาเบิกความ
อย่างไรก็ดีนายจตุพรแถลงต่อศาลขอเลื่อนเนื่องจากทนายความได้ถอนตัวไปและเวลานี้ยังไม่ได้แต่งตั้งทนายความ ขณะที่ตนเองมีความรู้เฉพาะด้านการเมือง ไม่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์ที่จะทำหน้าที่ซักค้านพยานด้วยตนเองได้
ด้านทนายโจทก์ได้แถลงคัดค้านจำเลยว่า การขอเลื่อนของจำเลยน่าจะเป็นการประวิงเวลา ขณะเดียวกันวันโจทก์ได้เตรียมพยานมาพร้อมสืบแล้วจึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานโจทก์เดินทางมาศาลพร้อมสืบแล้วจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนขณะที่นายจตุพรแถลงต่อศาลว่าไม่ขอใช้สิทธิ์ซักค้านพยานปากนี้ เนื่องจากยังไม่มีทนายความ เมื่อแถลงต่อศาลเสร็จ นายจตุพร ได้ลงชื่อในกระบวนพิจารณา ก่อนเดินทางออกจากห้องพิจารณา โดยไม่ได้รับฟังการพิจารณาสืบพยานปากนี้แต่อย่างใด
จากนั้นโจทก์ได้นำนายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขึ้นเบิกความชี้แจ้งเกี่ยวกับขั้นตอนและระเบียบการยื่นถวายกฎีกา
เช่น จำเลยจะต้องได้รับการพิพากษาในคดีที่มีอัตราโทษสูงสุด ตั้งแต่จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และกรณีผู้ยื่นฏีกาจะต้องเกี่ยวข้องกับจำเลย อาทิ บุตรสาว บุตรชาย ภรรยา เป็นต้น หรือ ผู้ใกล้ชิด ส่วนลำดับขั้นตอนการส่งฏีกาเริ่มตั้งแต่ กรมราชทัณฑ์รับฏีกามาตรวจสอบก่อนเสนอให้กับกระทรวงยุติธรรม ส่งต่อให้กับนายกรัฐมนตรี ก่อนนำส่งต่อสำนักพระราชวังเพื่อทูลเกล้าถวายฯ
นายชาติชาย เบิกความต่อไปอีกว่า หลังจากได้รับฏีกา เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2552 ตามขั้นตอนทางกรมราชทัณฑ์จะต้องนำรายชื่อทั้งหมดเข้าตรวจสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เพื่อให้สะดวกต่อการส่งเรื่องไปให้กรมการปกครองตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นมีการตรวจสอบแล้ว พบว่าผู้ลงชื่อถวายฎีกา มีรายชื่อตรงกับทะเบียนราษฏร์ 1 ล้านรายชื่อ และยังต้องทำการตรวจสอบรายชื่อที่เหลืออีกเป็นจำนวนมาก ภายหลังนายชาติชาย เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ศาลสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 21 กรกฎาคม นี้