กก.สิทธิฯเสนอ 4 ปัญหาเร่งด่วน แก้ไขก่อนปฏิรูปการเมืองรอบ2

กก.สิทธิฯเสนอ 4 ปัญหาเร่งด่วน แก้ไขก่อนปฏิรูปการเมืองรอบ2

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2549 19:32 น.

กก.สิทธิ ออกแถลงการณ์เรียกร้องปฏิรูปการเมืองรอบ 2 แก้รัฐธรรมนูญอย่าปล่อยผู้มีอำนาจคุมเกม ติงอย่าแก้เฉพาะตัวอักษรแต่ไร้แนวปฏิบัติที่ชัดเจน พร้อมเสนอ 4 ปัญหาเร่งด่วนที่ควรพิจารณาก่อนแก้ไข ด้าน เสน่ห์ จวก โภคิน เสนอแก้ผู้นำถือหุ้นและธุรกิจได้ สะท้อนไม่สำนึกถึงความผิดพลาด สะท้อนไร้ภาวะการเป็นผู้นำในการปฏิรูป


วันนี้ (9 มี.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การแสวงหาทางออกอย่างเป็นธรรมจากวิกฤตความขัดแย้งเพื่อการพัฒนาและการปฏิรูปการเมือง โดยนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เกิดการแบ่งแยกในสังคม และกรรมการสิทธิก็พยายามแสวงหาทางออก และเราก็พยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง แต่จากข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายที่เรารับฟังมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองเลย กรรมการสิทธิจึงมีแถลงการณ์เพื่อแสวงหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรมคือในวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นคณะกรรมการสิทธิ ได้ติดตามเหตุการณ์ ดังกล่าวตลอดมาตั้งแต่ต้น และวิเคราะห์ทำความเข้าใจกับปัญหา เพื่อแสวงทางออกที่สร้างสรรค์ดีงาม สำหรับประเทศชาติ เมื่อพิเคราะห์ดูถึงจุดร่วมกันอย่างน้อยในหลักการพื้นฐานที่อาจนำมาเป็นจุดตั้งต้นของการแสวงทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องหยิบยกเอาข้อเสนอปลีกย่อยจากมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญขึ้นมาเผชิญหน้าปะทะกัน ซึ่งรังแต่จะเป็นตัวเร่งนำไปสู่ความอับจนทางปัญญา และความรุนแรงสูญเสียในที่สุด

หลักการพื้นฐานที่ว่านี้ ที่แสดงออกเป็นเสียงเดียวกันก็คือ การปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาจะจำกัดอยู่ภายในขอบเขตของกลไกเกมอำนาจความเป็นใหญ่ทางการเมืองเพียงเท่านั้น และไม่ใช่เป็นช่องทางแก้ไขปัญหาวิกฤตอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนอย่างแน่นอน รวมทั้งดูจะพิจารณากันโดยอาศัยวิชาชีพนิติศาสตร์เป็นพื้นฐาน ทำนองเดียวกันกับอิงอาศัยวิชาชีพเศรษฐศาสตร์เป็นหลักนำในการกำหนดนโยบายและมาตรการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งที่ทั้งสองเรื่องต่างสัมพันธ์เกี่ยวข้องไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน ประเทศไทยและประชาชนคนไทยจึงต้องตกอยู่ในความคับขันอับจนทางปัญญาจนถึงทุกวันนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เอาแต่ว่ากันตามตัวอักษร เป็นรายมาตรา เพื่อเป็นช่องทางของการตีความในเชิงได้เปรียบเสียเปรียบทางเศรษฐกิจการเมือง เป็นการบั่นทอนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของ รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยเจตนาที่จะมองข้ามหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนปัญหาการสูญเสียของประชาชนคนไทยไม่ว่าจะเป็นกดขี่บั่นทอนทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครอง และความพยายาม หลีกเลี่ยงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

รัฐธรรมนูญฉบับ ประชาชน มีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขขจัดปัดเป่าปัญหาการสูญเสียเหล่านี้ แต่ทว่านับ ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว หลักการเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและบทมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มักจะถูกละเลยและละเมิดฝ่าฝืนจนกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ รวมความแล้ว วิกฤตรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของกลไกการแก้เกมอำนาจของฝ่ายนั้น กลุ่มนี้ อย่างที่ต่างก็พยายามตอกย้ำกันอยู่ขณะนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเอง เห็นถึงประเด็นปัญหาสำคัญที่จะจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยรีบด่วนในการคิดอ่านปฏิรูปการเมือง ประกอบด้วย 1.การละเลยและละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่ได้บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.การแย่งชิงยึดครองฐานทรัพยากรที่เป็นทรัพยากรส่วนรวมของสังคม และแปลงเป็นทรัพย์สินที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทุน และบรรษัทธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งล้วนเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นเชิงนโยบายจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันโดยทั่วไป

3.การยึดถือแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม เปิดเสรีด้านการค้า การลงทุน และการบริการในทุกรูปแบบ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเติบโตของมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จใน การพัฒนาประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบสูญเสียทางด้านสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และฐานทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสมบัติของชาติโดยรวม และ 4.การผลักดันโครงการพัฒนาและการลงทุนขนาดใหญ่ โดยละเมิดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลีกเลี่ยงระบบการตรวจสอบ ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ

ปัญหาดังกล่าวปรากฏเป็นรูปธรรมสะท้อนให้เห็นจากกรณีปัญหาต่างๆ เช่น การทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) การผลักดันร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ การดำเนินนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะเคยนำเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หากแต่ไม่ได้รับความใส่ใจ

ข้อที่จำเป็นต้องย้ำไว้ ณ ที่นี้ก็คือว่า การปฏิรูปการเมืองมิอาจจำกัดอยู่ที่การแก้ไขตัวอักษรในรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้นตามแนวทางที่มีการพยายามนำเสนอกัน หากยังขึ้นอยู่กับการแสวงหาแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนระดับรากหญ้า พร้อมทั้ง กวดขันให้เกิดวัฒนธรรมองค์กร ที่เคารพความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างจริงจัง ทั้งในองค์กรการเมืองและองค์กรราชการทุกภาคส่วนและทุกระดับ นอกจากนี้ การปฏิรูปการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และเนื้อหาดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการนำของผู้กุมอำนาจทางการเมืองและอำนาจรัฐ

นายเสน่ห์ยังกล่าวว่า เมื่อเช้าเขาได้ทราบข่าวที่นายโภคิน พลกุล ระบุว่า รัฐธรรมนูญไม่ยุติธรรม ห้ามมิให้ผู้นำทางการเมืองถือหุ้นและธุรกิจ ดังนั้นควรแก้ไขให้ผู้นำทางการเมืองถือหุ้นและธุรกิจได้ การที่ออกมาพูดเช่นนี้แสดงว่าผู้นำของเรายังยึดติดบางอย่างที่นำมาสู้วิกฤติรุนแรงและคอร์รัปชั่นโดยที่ไม่ได้สำนึกถึงความผิดพลาดและแสดงให้เห็นว่าผู้ที่พูดอย่างนี้ไม่ผ่านการพิจารณาและไม่เหมาะสมที่จะมาเป็นผู้นำในการปฏิรูปการเมือง

ขอให้ตระหนักว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นหลุมพรางก็ได้ การปฏิรูปการเมืองเราจะปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ มิฉะนั้นก็จะทำให้บิดเบือนประเด็นได้ นายเสน่ห์ กล่าว

ส่วนที่มีการเสนอให้รัฐบาลและ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถอยคนละก้าว นายเสน่ห์กล่าวว่า เขาไม่ค่อยเข้าใจว่าถอยคืออะไร แต่สิ่งที่กรรมการสิทธิเสนอนั้นกำลังเสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรม เรากำลังพูดให้สังคมเข้าใจ ประชาชนต้องหยุดคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์