ศอฉ.แฉหน่วยข่าวพบแดงเตรียมป่วนหลังเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้เตรียมขยายบางจังหวัด ยันรัฐไม่สร้างระเบิดเองหวังต่อ พ.ร.ก. ระบุเตรียมขอศาลออกหมายจับ “กำพล” เอี่ยวบึ้ม ภท. เชื่อไม่ทำคนเดียว.......
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.เวลา 13.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทรงพล วัฒนะชัย รองผู้บังคับการอำนวยการกองบัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษดีเอสไอ แถลงผลการปฏิบัติภารกิจของ ศอฉ. ในห้วงที่ผ่านมา หลังจากที่มีการย้ายกองบัญชาการ ศอฉ. จากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ มาที่กองบัญชาการกองทัพบก
พ.ต.อ.ทรงพล กล่าวว่า จากการปฏิบัติการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมี 3 เรื่อง
คือ 1.การรายงานผลความคืบหน้าของการสืบสวนติดตามจับกุมคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามหมายจับ (ฉฉ.) ที่ขออนุมัติหมายจับต่อศาลในการควบคุมเบื้องต้นเกรงว่าจะไปก่อเหตุการยุยง ส่งเสริมก่อความไม่สงบเรียบร้อย โดยออกไปจำนวนทั้งสิ้น 84 หมาย ขณะนี้ได้ดำเนินการจับกุมได้แล้ว 35 หมาย คงเหลือ 49 หมาย 2.หมายคดีอาญาที่มีการฝ่าฝืนตาม พรก.ฉุกเฉิน และเจ้าพนักงานตำรวจได้ขออนุมัติต่อศาลอาญามีจำนวนทั้งสิ้น 886 หมาย ได้ติดตามจับกุมแล้ว จำนวน 200 หมาย คงเหลือที่จะจับกุมอีก 686 หมาย 3.เรื่องการฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน แต่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า โดยจับกุมได้ทั้งสิ้น 417 คน ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งของการประกาศกำหนดเขตการเข้าออกในเคหะสถานตามห้วงเวลา หรือเคอร์ฟิวส์ ได้ติดตามจับกุมรวม 1,334 หมาย นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่กระทำความผิด และรู้ว่าจะมีการติดตามจับกุมโดยที่เรายังไม่มีการออกหมายเข้ามารายงานตัว อีก 9 ราย รวมคดีทั้งสิ้นจนถึงวันที่ 23 มิ.ย.นี้ จำนวน 2,730 ราย จับกุมแล้ว 1,984 ราย ในส่วนนี้จะต้องสืบสวนจับกุมต่อไป 744 ราย ส่วนที่เหลือเป็นหมาย (ฉฉ.) รวมถึงบุคคล หรือ แกนนำสำคัญที่หลบหนีอยู่ และ บุคคลที่หลบหนีตามพื้นที่ต่าง ๆ
พ.ต.อ.ทรงพล กล่าวว่าคดีของนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ยังหลบหนีอยู่
ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ติดตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งบ้านพักภรรยา บุตร หรือ บ้านพักบิดามารดาของ นายสุภรณ์ แม้กระทั่งเพื่อนสนิทที่จะหลบหนี หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้ไปพักพิง โดยเราได้ดำเนินการทุกมิติ หรือทุกช่องทาง นอกจากนี้ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือนายอดิศร เพียงเกษ ที่ยังหลบหนีอยู่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวน โดยกองบังคับการตำรวจปราบปราม แบ่งชุดปฏิบัติออกเป็น 7 ชุด ในการเฝ้าติดตาม ส่วนมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ กทม. ทางตำรวจนครบาลได้ปรับแผนหลังจากมีเหตุการณ์ระเบิดที่ทำการพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้เกิดความกระชับมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มชุดปฏิบัติการพิเศษใช้กำลังหน่วยอารักขาควบคุมฝูงชน จำนวน 12 ชุดปฏิบัติการ โดย 1 ชุด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย โดยวางไว้ตามจุดสำคัญ ๆ เช่น สถานีรถไฟชานชลาต่าง ๆ และจุดสำคัญทางเข้าออก ประกอบกับการดำเนินการควบคู่จุดตรวจมั่นคง จำนวน 17 ด่าน โดยกระจายกำลังปิดเส้นทางเข้าออกทั้ง 4 จุด ทั้งทางด้านทิศเหนือ คือ ถนนสายเอเชีย ถนนพหลโย ด้านทิศใต้ คือ ถนนพระราม 2 ทางด้านถนนเพชรเกษม และทางด้านทิศตะวันออก คือ ถนนบางนา-ตราด
พ.ต.อ.ทรงพล กล่าวว่า นอกจากนี้ยังสั่งการไปยังสถานีตำรวน 68 สถานี โดยมีจุดตรวจละ 2 จุด
โดยมีทั้งหมดรวม 153 จุดตรวจ ครอบคลุมในพื้นที่ กทม. ซึ่ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษา ผบ.ตร. ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ของกองปราบปราม และตำรวจท่องเที่ยวมาเสริมการปฏิบัติงานด้วย ขณะเดียวกันยังคงปฏิบัติตามปกติของข้าราชการตำรวจในพื้นที่ของแต่ละสถานี โดยจะจัดกำลังไปดูแลสถานที่ราชการสำคัญ ทั้งบ้านพักบุคคลสำคัญ ศาล สถานทูต และพรรคการเมือง หรือสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง ทั้งนี้ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยานนท์ ผบ.ชน. ได้เรียกประชุมผู้บังคับการ ผู้กำกับการ ในสังกัด บชน. เพื่อมากำชับจุดตรวจ จุดสกัด และสถานที่สำคัญ เพื่อเป็นการป้องกันก่อเหตุระเบิด หรือการก่อวินาศกรรม ตลอดจนการวางเพลิงเผาทรัพย์ ที่จะไปในลักษณะการก่อความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง “สำหรับเหตุการณ์ระเบิดที่พรรคภูมิใจไทย ขณะนี้เราได้ตัวผู้ต้องหา คือ นายอเนก สิงห์ขุนทด เป็นคน จ.นครราชสีมา และสืบสวนเบื้องต้น นายอเนก ได้ซัดทอดไปที่ นายกำพล คำคง ซึ่งเป็นคน จ.ชลบุรี ซึ่งทางตำรวจนครบาล ได้ประสานกับตำรวจภูธรภาค 2 ในการสืบสวนเบาะแสติดตามจับกุม ขณะนี้พนักงานสอบสวน สน.สามเสน รวบรวมหลักฐานเพื่อขออนุมัติศาล และอย่างช้าในวันพรุ่งนี้ศาลคงออกอนุมัติหมายจับได้ ซึ่งจากการติดตามพบว่าขณะนี้ นายกำพล อยู่ที่บริเวณชายแดนในประเทศไทยใกล้กับประเทศกัมพูชา”พ.ต.อ.ทรงพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการจับกุมนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. พ.ต.อ.ทรงพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบด่านเข้าออกไม่พบ
ดังนั้น คงหลบหนีไปในเส้นทางที่เป็นเส้นทางเข้าออก ซึ่งอาจจะใช้การเดินป่าหรือเส้นทางลัดไปในประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ ทั้งนี้ เราวางกำลังติดตามจับกุมทุกจุด และมอบหมายชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ชุดไหนติดตามผู้ต้องหาชื่ออะไร เมื่อถามว่า เหตุระเบิดใกล้พรรคภูมิใจไทยมองว่าเป็นฝีมือของแกนนำเสื้อแดงหรือไม่ พ.ต.อ.ทรงพล กล่าวว่า ถามว่าจะโยงการเมืองหรือไม่ เราต้องตั้งข้อสังเกตว่าเป้าหมายที่คนร้ายกระทำต่อใคร ซึ่งเป้าหมายคือพรรคภูมิใจไทย และจากการสืบสวนทางลับพบว่าผู้ต้องหามีส่วนเข้าร่วมการชุมนุม แต่เป็นระดับไหนยังไม่ทราบ เชื่อว่าไม่น่าจะใช่การกระทำของนายกำพลโดยลำพัง น่าจะมีผู้อยู่เบื้องหลังขึ้นอยู่หลักฐานขยายผลต่อไป ทั้งนี้ จากการสืบสวนไม่ปรากฏว่านายกำพลเกี่ยวข้องกับ เสธ.ทหารคนดัง
เล็งขยายฉุกเฉิน ศอฉ.แฉ แดงเตรียมป่วน
ด้าน พ.ต.ท.พเยาว์กล่าวว่า ดีเอสไอรับผิดชอบการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 4 ประการ
คือ ก่อการร้าย การขู่บังคับรัฐบาล การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงอาวุธยุทธภัณฑ์ของทางการาชการ และความผิดที่เกี่ยวพันต่อเนื่องอันเกิดจากการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในการดำเนินการได้แต่งตั้งพนักงานอัยการร่วมการสอบสวน รวมถึงส่วนปฏิบัติการสนธิกำลังกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ยุติธรรม 12 หน่วยงาน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. ถึงวันที่ 23 มิ.ย. กรมสอบสวนดีพิเศษได้รับโอนคดีอาญาทั้งสถานีตำรวจในนครบาล และสถานีตำรวจภูธรในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด รวมทั้งหมด 162 คดี“แบ่งเป็นคดีก่อการร้าย 79 คดี การขู่บังคับรัฐบาล 20 คดี การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 51 คดี และการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ 12 คดี ซึ่งในจำนวน 162 คดี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 34 คดี และใน 34 คดี มีผู้ต้องหา 498 คน และได้มีการจับกุมและมอบตัว 174 คน หลบหนี 323 คน และ เสียชีวิต 1 คน คือ เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกใน162 คดี มีการสอบสวนและดำเนินการเสร็จสิ้น และ ส่งให้พนักงานอัยการจำนวน 6 คดี ซึ่งเป็นการสั่งฟ้อง 4 คดี ไม่ฟ้อง1 คดีและ งดการสอบสวน 1 คดี”พ.ต.อ.พเยาว์ กล่าว
พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษทำคดีหลัก คือ คดีพิเศษที่ 18/53 ซึ่งข้อหาหลักคือการก่อการร้าย
ซึ่งจากการสอบสวน ข้อมูลหลักฐานและได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการในการเห็นชอบดำเนินคดี ต่อบุคคลในข้อหาก่อการร้าย ในครั้งแรกจำนวน 9 คนชุดที่สอง 11 คน ชุดที่สามอีก 20 คน รวมเป็น 37 คน ในจำนวนนี้เป็น ส.ส.3 คน ซึ่งได้มอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว และมีเสียชีวิต 1 คน และ เป็นผู้ต้องหาที่มีหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะนี้ 29 คน แต่สามารถจับกุมตัวได้แล้ว 14 คน หลบหนี 15 คน ส่วนบุคคลที่ไม่มีหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับความเห็นชอบจากศาลอาญาให้ออกหมายจับ 4 คน ซึ่งสามารถจับกุมได้ 1 คน
“ล่าสุดดีเอสไออยู่ในการรวบรวมคดีที่ก่อเหตุคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ในช่วง สุดท้ายการชุมนุมคือวันที่ 19-20 พ.ค.นี้ โดยมีเหตุเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ 36 จุดและส่งมอบสำนวนจากพนักงานสอบสวนจากสถานีตำรวจนครบาลให้เป็นคดีพิเศษ ทั้งหมด 9 คดี และในส่วนของการวางเพลิงสถานที่ราชการต่างๆ ได้รับมอบมา 10 คดี ในต่างจังหวัดคือ อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น มุกดาหาร เชียงใหม่ ส่วนการตรวจสอบการทำธุรกรรมการเงินของผู้ต้องสงสัย 83 ราย ซึ่งจะให้ทั้งหมดเริ่มเข้ารายงานตัวในวันจันทร์นี้ หากสามารถชี้แจงที่มาที่ไปของธุรกรรมได้โดยชอบก็จบ แต่หากตอบไม่ได้หรือมีข้อพิรุธหรือข้อสงสัยก็จะเป็นเหตุให้รวบรวมพยานหลัก ฐานในการพิจารณาดำเนินคดีช่วยเหลือสนับสนุนต่อไป ทั้งนี้ คงไม่สามารถอายัดตัวผู้มาให้คำชี้แจงได้ทันทีที่พบว่าผิด”พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าว
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า จากข้อมูลด้านการข่าวของ ศอฉ. ทุกหน่วยงานรายงานตรงกันว่ามีความพยายามเคลื่อนไหวอย่างลับๆ ระหว่างผู้ไม่หวังดี
เพื่อสร้างสถานการณ์ทั้งในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และพื้นที่ในภูมิภาคทั้งภาคเหนือและอีสาน ทั้งนี้ การประชุม ศอฉ.ทุกครั้งฝ่ายข่าวจะรายงานเสมอว่ายังมีการพบปะกันระหว่างกลุ่มการเมือง กับแกนนำ เพื่อจะสร้างสถานการณ์ความรุนแรง มีการจะนำอาวุธมาใช้ในพื้นที่ต่างๆ และมีข่าวว่าเมื่อใดที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในบางพื้นที่ก็จะเริ่มปฏิบัติภารกิจลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ดังนั้นจากข้อมูล ข่าวทำให้การปฏิบัติงานของทหารยังคงปฏิบัติงานช่วยเหลือตำรวจอยู่ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่กรุงเทพฯ จัดให้สารวัตรทหาร 3 เหล่าทัพ เพื่อแสดงกำลังในจุดต่างๆที่ล่อแหลม ทั้งจัดกำลังสายตรวจ ตั้งจุดตรวจในพื้นที่ล่อแหลมควบคู่กับการตั้งจุดตรวจร่วมกับตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง และจัดกำลังกองร้อยเคลื่อนที่เร็ว หากมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่ กทม.อีก 3 กองร้อย ประจำอยู่ในกองบัญชาการกองทัพบก และกองทัพภาคที่ 1
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดและภูมิภาคกองทัพภาคที่ 2 และ 3 ยึดแนวทางเดียวกัน
คือ มีกองร้อยรักษาความสงบประจำอยู่แต่ละจังหวัดๆละ 2-3 กองร้อย แล้วแต่สถานการณ์ในพื้นที่ นอกจากนี้ จะส่งทหารและฝ่ายต่างๆในสายงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราช อาณาจักร (กอ.รมน.) ลงไปพบปะชี้แจงทำความเข้าใจประชาชนถึงสถานการณ์ที่ผ่านมา เพราะมั่นใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยังมีบางส่วนได้ข้อมูลคลาด เคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งจากสถานการณ์การข่าวเช่นนี้มีผลผูกพันถึงการพิจารณาการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ยังมีเวลาเพียงพอคาดว่าต้นสัปดาห์หน้าจะส่งข้อมูลให้รัฐบาลก่อนที่จะมี การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ แต่แนวโน้มคาดว่า น่าจะมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก แต่อาจไม่ครบทั้ง 24 จังหวัด
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)จะมีแนวทางในการปฏิบัติการเลือกตั้งซ่อมในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไร
ซึ่ง ศอฉ.มอบให้หัวหน้าทีมกฎหมาย คือ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปหารือกับทีมกฎหมาย สรุปว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะไม่มีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง เพราะสามารถจัดเลือกตั้งได้ปกติทั้งการเดินทางให้กำลังใจผู้สมัคร การเป็นสักขีพยาน หรือปราศรัยหาเสียง สามารถทำได้ปกติแต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น เรื่องปราศรัยต้องเป็นข้อเท็จจริงรับฟังได้ ไม่เป็นเรื่องที่สร้างสถานการณ์มา เพื่อให้เกิดความแตกแยก หรือนำเรื่องเท็จมากล่าวหากัน แต่ประชาชนมาให้กำลังผู้สมัครได้ แต่ปิดการจราจรหรือก่อความวุ่นวายไม่ได้
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดมักมีระเบิดในช่วงที่จะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า “อย่าคิดลึกขนาดนั้น ท่านคงคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าหน้าที่จะก่อเหตุขึ้นมา เพื่ออาศัยต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอเรียนว่าแม้ไม่มีระเบิดข้างพรรคภูมิใจไทย แต่ข้อมูลข่าวสารว่ามีความพยายามเคลื่อนไหวในพื้นที่ กทม.และภูมิภาคเพียงพอแล้วที่จะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามการประเมินสถานการณ์ของ ศอฉ. ไม่จำเป็นต้องเอาเงาะไปโปะไว้บนถังแก๊สแล้วระเบิด เพื่อต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”