"เฉลิม"ตั้ง 7 คำถามถึง"นายกฯ-กรณ์"แจงปั่นหุ้นไทยคม ถามเจรจาเทมาเสคส่วนตัวหรือรมว.คลัง แฉไอ้โม่งทำกำไรจากการอินไซเดอร์ข้อมูลสูงพันล้าน เผยรูปแบบสัญญาไทยคมโดยสถานะกฎหมายเป็นของประเทศไทย
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 มิถุนายน ที่พรรคเพื่อไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วนและประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย
แถลงว่า ตามที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงการคลัง นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้ข่าวว่ารัฐบาลไทยจะซื้อคืนดาวเทียมไทยคมจากกองทุนเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ ตนจึงขอตั้งคำถามไปยังนายกรณ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี 7 ข้อ คือ
1.นายกรณ์ และนายศิริโชค เดินทางไปพบผู้บริหารกองทุนเทมาเส็ก เมื่อวันที่ 12 เมษายน 52 ที่ประเทศสิงคโปร์ ในฐานะส่วนตัวหรือในนาม รมว.คลัง ซึ่งหลังจากนายกรณ์พบผู้บริหารกองทุนเทมาเส็กแล้ว ทางกองทุนเทมาเส็กได้ออกมาแถลงข่าวว่านายกรณ์มาพบเป็นเรื่องไม่ปกติ เป็นการมาพบเพื่อเรื่องส่วนตัว
2. มีแหล่งข่าวอันน่าเชื่อถือได้ว่า ระหว่างสนทนา ผู้บริหารเทมาเส็ก ได้แจ้งให้นายกรณ์ทราบว่าหากจะมีการติดต่อซื้อหุ้นของกองทุนเทมาเส็ก ให้นายกรณ์ไปติดต่อกับ บมจ.ไทยคมและบมจ.ชินคอร์ปฯ โดยตรง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันนายกรณ์ยังไม่ได้มีการติดต่อทั้ง 2 บริษัทแต่อย่างใด แต่นายกรณ์กลับให้สัมภาษณ์ว่าจะซื้อหุ้นคืนจากเทมาเสคก่อน
3.โครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ.ไทยคม มีบมจ.ชินคอร์ปฯ ถือหุ้น 41 เปอร์เซ็นต์ ผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ 59 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน บมจ.ไทยคมเป็นของประเทศไทย ไม่ใช่ของประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นการที่นายกรณ์และรัฐบาลสร้างกระแสชาตินิยมเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้อธิบายชัดเจนว่ามีดาวเทียมหลายดวงที่มีฐานที่ตั้ง (Footprint) ในประเทศไทย ถ้ารัฐบาลอ้างเรื่องความมั่นจะซื้อดาวเทียมทุกดวงหรือไม่
4.จากการที่นายกรัฐมนตรี รมว.คลัง และนายศิริโชค ได้ออกมาประกาศเจตนาของรัฐบาลจะซื้อดาวเทียมไทยคม ทราบหรือไม่ว่าการกระทำดังกล่าวมีผลต่อการขึ้นลงของราคาหุ้นบมจ.ไทยคม อีกทั้งรัฐบาลและนายกรณ์ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบ เพื่อให้หยุดการซื้อขายหุ้นไทยคมก่อนออกมาให้ข่าวหรือไม่
เฉลิมตั้ง 7 คำถามถึงนายกฯ-กรณ์แจงปั่นหุ้นไทยคม
5. จากการตรวจสอบการพบว่าปริมาณการซื้อขายหุ้น บมจ.ไทยคม เพิ่มขึ้นอย่างมากผิดปกติในเดือนมีนาคม 2553 โดยเพิ่มเป็นวันละ 100 ล้านบาท 200 ล้านบาท 346 ล้านบาท 418 ล้านบาท บางวันพุ่งสูงถึง 734 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยหุ้นละประมาณ 4.60 – 5.60 บาท จากปกติมีการซื้อขายเพียงวันละไม่กี่ 10 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดที่น่าสังเกตคือวันที่ 7 เมษายนปริมาณซื้อขายที่ 117 ล้านบาท และวันที่ 8 เมษายน ก่อนที่นายกรณ์จะเดินทางไปพบผู้บริหารเทมาเสค มีปริมาณซื้อ ขาย 255 ล้านบาท และวันที่ 14 มิถุนายน 53 ซึ่งมีข่าวว่ารัฐบาลจะซื้อคืนดาวเทียมไทยคมผ่านทางหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับเดียว ทำให้หุ้นไทยคมในตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้นชนเพดาน จากราคา 5.45 บาท เป็น 7.05 บาท เฉลี่ยสูงขึ้น 29.36 เปอร์เซ็นต์ มียอดซื้อขาย 124,934,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 825.85 ล้านบาท และวันที่ 16 มิ.ย.53 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7.65 บาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัยหากินบนคราบน้ำตาประชาชน
6. การที่ รมว. คลังออกมาบอกว่าจะซื้อเฉพาะดาวเทียมโดยไม่ซื้อบริษัท อยากถามว่ารมว. คลังได้มีการศึกษาหรือไม่ว่าสัญญาของ บมจ. ไทยคมนั้น เป็น สัญญาแบบ BTO หรือ Built- Transfer-Operate คือการสร้างโอนแล้วจึงมาบริหารจัดการ ซึ่งหมายความว่าในทางกฏหมายแล้วเป็นของประเทศไทย โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) อยู่แล้วเพียงแต่ บมจ. ไทยคมมีสิทธิในการบริหารจัดการเท่านั้น ดังนั้นที่รัฐบาลทำได้ก็เพียงขอซื้อบริษัทที่บริหารจัดการคือบมจ.ไทยคม ไม่ใช่การซื้อเฉพาะดาวเทียม
7. การที่นายกฯ และ รมว. คลัง ได้ออกมาบอกว่าจะซื้อคือดาวเทียม ถามว่ามีการเตรียมการในการบริหารจัดการอย่างไร มีหน่วยงานรัฐมีความรู้ความชำนาญและความพร้อมมีเพียงไร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้เลย จึงเชื่อได้ว่าเป็นการปล่อยข่าวเพื่อปั่นหุ้นเท่านั้น เพราะสุดท้ายนายศิริโชคก็บอกว่าจะไม่พูดเรื่องนี้แล้ว นายกรัฐมนตรีก็เงียบๆไป
“เรื่องนี้สรุปว่ามีวาระซ่อนเร้น มีการใช้สถานะไปทำการอินไซเดอร์ข้อมูลเพื่อเก็งกำไรจำนวนมากนับ 1,000 ล้านบาทจากการซื้อและเทขาย สะท้อนว่า คนพวกนี้มีจิตเป็นโจร ผมฟันธงว่า มีคนอัปรีย์จัญไรหากินบนคราบน้ำตาประชาชน กรณีนี้หากเกิดในต่างประเทศบุคคลที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องต่อการทำผิดกฎตลาดหลักทรัพย์ จะต้องลาออกจากตำแหน่งทันที ทั้งนี้เปิดประชุมสภาผู้แทนเมื่อไหร่พรรคฝ่ายค้านจะนำไปตั้งกระทู้ถามในสภา หรือถ้ารัฐบาลอยู่ยาวอย่างที่พูดก็จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว