เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์นัดพร้อมคู่กรณี ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้ร้อง ส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของส.ว.16 คน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 13และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน 16 คนในฐานะผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (6) และ 119(5) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามมาตรา 265(2) และ (4) ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อและบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐหรือไม่ โดยผู้ถูกร้องเป็นส.ส.และส.ว.จำนวน 44 คน การนัดพร้อมครั้งนี้มีเพียง นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้เข้ารับฟัง
ศาลรธน.นัด 44ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นต้องห้ามรธน. ตรวจพยาน 9ก.ค. นัดไต่สวนนัดแรก 23ก.ค. "จุติ"กังวลคดี
ทั้งนี้ ศาลได้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่ามี3 คำร้อง ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเดียวกัน จึงจะรวมวินิจฉัยให้เป็นคดีเดียว และหารือกับคู่กรณีในเรื่องของวันนัดไต่สวนที่เดิมศาลกำหนดเป็นวันพุธของสัปดาห์จนกว่าจะเสร็จสิ้น แต่ฝ่ายผู้ถูกร้องทักท้วงว่า อาจไม่สะดวกเพราะติดปัญหาเรื่องของการประชุมสภาฯทุกวันพุธ ศาลจึงขอหารือและกำหนดให้มีการไต่สวนทุกวันศุกร์ของสัปดาห์แทน
นอกจากนี้ ศาลได้แจ้งให้ทราบถึงกระบวนการไต่สวนว่าจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม
1 พยานหลักฐานในกลุ่มของผู้ร้อง
2.พยานหลักฐานในกลุ่มที่ผู้ถูกร้องอ้างเข้ามา
3.ความเห็นของผู้เชียวชาญในเรื่องสัมปทานรัฐ และการผูกขาดตัดตอน รวมถึงความเห็นนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญ
และ4 กลุ่มพยานหลักฐานอื่นๆ ที่ศาลเห็นว่าสมควรนำสืบ ซึ่งเมื่อศาลไต่สวนเสร็จสิ้นแล้วก็จะทำการรวบรวมและพิจารณาเพื่อมีคำวินิจฉัยต่อไป
จากนั้นนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านกระบวนวิธีพิจารณาคดีว่า คำร้องที่มีการยื่นโดยประธานวุฒิสภา และประธานสภาฯ ขอให้วินิจฉัยการสิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.และส.ส. โดยศาลเห็นว่ามีประเด็นแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกัน จึงให้รวมพิจารณาเพื่อความรวดเร็ว ส่วนกรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถูกร้องนั้น ต่อมานายสุเทพได้ลาออกจากส.ส. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 แล้วศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
นายเฉลิมพล กล่าวว่า ศาลได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาวินิจฉัยรวม 3 ประเด็น
1 การดำเนินการและการมีคำวินิจฉัยของกกต.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2. บริษัทที่ผู้ถูกร้อง คู่สมรส และบุตร เข้าไปถือหุ้นนั้นเป็นบริษัทต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 (2) (4) ประกอบมาตรา 48 หรือไม่
3.การถือหุ้นของผู้ถูกร้องคู่สมรสและบุตร เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม เวลา 11.00 น. และนัดไต่สวนพยานทุกวันศุกร์ของสัปดาห์จนกว่าจะเสร็จสิ้น โดยนัดไต่สวนพยานนัดแรกในวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม เวลา 10.00 น.
“จุติ”กังวลคดี พ้นส.ส.พร้อมลงใหม่
ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที และส.ส.พิษณุโลก ในฐานะผู้ถูกร้อง กล่าวว่า ตนรู้สึกกังวลต่อการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งไม่ว่าผลของคดีจะออกมาเช่นไรก็จะยอมรับคำตัดสินของศาล เพราะคดีนี้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของตนเองที่อ่านกฎหมายไม่ชัดเจน และหากต้องพ้นจากตำแหน่งส.ส.ก็พร้อมจะลงเลือกตั้งใหม่ เพราะได้หาเสียงล่วงหน้าไว้นานแล้ว ส่วนจะส่งผลในตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะพิจารณา