ถกพิจารณากรอบ กม.นิรโทษกรรมเสื้อแดง



"ธาริต"วอนสื่อช่วยแจงสังคม เหตุกฎหมายนิรโทษกรรมเสื้อแดงถูกต้านมากกว่าหนุน โยน ศอฉ.-รัฐตัดสินใจขั้นสุดท้าย


ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เวลา 13.30 น. วันนี้(14 มิ.ย.) มีการประชุมร่วมกันของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สมช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณากรอบแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับกลุ่ม นปช. โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม ว่า ทั้ง 3 หน่วยงานจะหารือกันเบื้องต้นเท่านั้น รวมถึงพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสียของการออกกฎหมายดังกล่าว และจะนำเสนอ ศอฉ.ต่อไป ทั้งนี้อยากให้เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น ยังไม่ได้มีข้อสรุปใด ๆ และกรอบก็มีความชัดเจนว่าจะดูเฉพาะกรอบความผิดเล็กน้อย คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี โดยมุ่งเน้นไปที่คนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีเจตนาร้ายหรือกระทำผิดอื่น ส่วนคนที่วางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นสะดม ก่อการจลาจล ก่อการร้าย กระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ ทำร้ายร่างกายนั้น จะไม่อยู่ในกรอบนี้

เมื่อถามว่ากฎหมายฉบับนี้จะรวมไปถึงคนที่ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนหน้านี้หรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ถ้าผู้ถูกจุบกุมทำความผิดเฉพาะเรื่องการชุมนุมโดยไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีก็จะอยู่ในกรอบนี้ ซึ่งขณะนี้ลักลั่นกันอยู่ บางคนถูกจำคุก บางคนอยู่ระหว่างสู้คดี บางคนหลบหนีไป หรือบางคนก็กลับบ้านไปเฉย ๆ ดังนั้นจะนำมาดูในกรอบเดียวกัน

“อยากให้สื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจกับสังคมว่ากฎหมายนี้จะครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ชุมนุมโดยไม่ถูกต้อง ที่มีความผิดเล็กน้อย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น ไม่เกี่ยวไปถึงข้อหาอื่นที่เป็นความผิดฉกรรจ์ทั้งหลาย ซึ่งขณะนี้เสียงตอบรับไม่ดีเลย มีแต่คนคัดค้านเยอะมาก ไม่มีคนสนับสนุน แต่ก็ไม่เป็นไร พวกผมทั้ง 3 หน่วยงานศึกษาเฉพาะแค่ความเป็นไปได้ ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นเรื่องของ ศอฉ.และรัฐบาล”นายธาริต กล่าวและว่าหลังจากได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำเสนอ ศอฉ.ในอีก 1-2 วัน ถ้า ศอฉ.ไม่เห็นชอบก็ตกไป แต่ถ้าเห็นด้วยก็จะเสนอรัฐบาลต่อไป เมื่อถามว่าตัวกฎหมายที่จะยกร่างขึ้นจะทำในลักษณะใด นายธาริต กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาก็ทำได้ทั้งเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ถ้าหากต้องการใช้เร็วก็ออกเป็น พ.ร.ก. โดยฝ่ายบริหาร ซึ่งก็มีผลบังคับทันที แล้วค่อยไปขอสภาฯเห็นชอบ แต่ถ้าต้องการความรอบคอบก็ออกเป็น พ.ร.บ. ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะต้องผ่านทั้ง 2 สภาฯ

เมื่อถามว่ามีคนที่เข้าข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้เท่าไหร่ นายธาริต กล่าวว่า คนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยผิดกฎหมายก็มีเป็นหลักหมื่น ส่วนจะครอบคลุมผู้ที่ร่วมชุมนุมตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าเลยหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของ ศอฉ.กับรัฐบาลที่จะตัดสินใจ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์