ระบุคลื่นใต้น้ำลองของคมช.

"บททดสอบรัฐบาล"


พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ ถึงปัญหาคลื่นใต้น้ำว่า ขณะนี้ยังมีความเคลื่อนไหวเรื่องคลื่นใต้น้ำอยู่เรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ คมช.ต้องเข้าไปดูแล ความเคลื่อนไหวนี้น่าจะเป็นการทดสอบรัฐบาลและ คมช. ผู้สื่อข่าวถามว่า การเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานหรือไม่ พล.อ.บุญรอดตอบว่า มีการเคลื่อนไหวในภาคเหนือด้วย มีข่าวว่าเขาจะลงมา แต่จะมีการชุมนุมหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของ คมช.ที่จะเข้าไปดูแล ตอนนี้ คมช. ให้แม่ทัพภาคเข้าไปเจรจาทำความเข้าใจสกัดไม่ให้เข้า กทม. มั่นใจว่าสามารถรับมือไหว เมื่อถามว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นสาเหตุที่ยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึกใช่หรือไม่ พล.อ.บุญรอดตอบว่า ตราบใดที่ยังไม่นิ่ง กฎอัยการศึกคงยังไม่เลิก ตามที่เคยบอกว่าจะเลิกเร็วๆนี้ คงขึ้นอยู่กับเรื่องเหล่านี้ด้วย

ม็อบต้านปฏิวัติรวมตัวที่สนามหลวง

เย็นวันเดียวกันที่ท้องสนามหลวงมีประชาชนจำนวนหนึ่งอ้างว่าเป็นกลุ่มประชาชนผู้รักประชาธิปไตย กลุ่มพิราบขาว 2006 นำโดยนายชนาภัทธ์ ณ นคร และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล มาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ รัฐบาล และ คมช.ลาออกแล้วคืนอำนาจให้ประชาชน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ทันที และจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นายชนาภัทธ์ กล่าวว่า คณะรัฐประหารไม่มีความชอบธรรม เป็นเผด็จการ การมาเรียกร้องครั้งนี้เพื่อต่อสู้กับเผด็จการ คืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนทั่วประเทศ การเคลื่อนไหววันนี้เป็นวันแรกและไม่กลัวว่าจะถูกจับกุม เพราะเชื่อว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ โดยเฉพาะมาตรา 63 ที่ระบุว่าไม่มีใครสามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ หากไม่ใช่เป็นการแก้ไขหรือยกเลิกโดยวิถีทางประชาธิปไตย ดังนั้น ผู้ก่อการรัฐประหารทุกคนจึงมีสถานภาพเป็นกบฏ แม้จะออกกฎหมายนิรโทษ กรรมตัวเองก็ตาม คมช.ไม่สามารถนำคำพิพากษาศาลฎีกามาอ้างในการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจหัวหน้าผู้ ก่อการมีอำนาจเต็มหลังปฏิวัติ

โวยรัฐบาลตั้งจุดสกัดแนวร่วม


นายชนาภัทธ์กล่าวด้วยว่า ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะ ในข้อหากบฏล้มล้างประชาธิปไตย หากดีเอสไอไม่ดำเนินการจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขณะนี้มีประชาชนทั่วประเทศกว่าหมื่นคนพร้อมจะมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ แต่ติดขัดที่รัฐบาลส่งคนไปข่มขู่คุกคามและสกัดกั้นตามจุดต่างๆ ทำให้เดินทางมากันไม่ได้ โดยเฉพาะพี่น้องภาคเหนือและอีสาน

ด้านนายนพรุจกล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นความชอบธรรมของประชาชนในการออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร เราต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตามก็จะชุมนุมต่อสู้จนถึงที่สุด การชุมนุมครั้งนี้มีการแจกใบปลิวในนามกลุ่มพิราบขาว 2006 โจมตี คมช.และรัฐบาล

อุ๋ย ยุติศึกน้ำลาย จารุวรรณ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเป็นกรรมการบอร์ดในรัฐวิสาหกิจเกิน 3 แห่ง อาจจะขัดมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ว่า ได้พูดหมดทุกอย่างแล้ว จะไม่พูดอีกแล้ว พูดหนเดียว ถ้ามีอะไร ที่มากระทบเกียรติยศชื่อเสียงก็ต้องป้องกันตัวเองหนเดียว และขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ลงข้อมูลถูกต้องทุกคำพูดที่พูดเลย ตนจะพูดหนเดียว และเชื่อว่าประชาชนเห็นข้อ เท็จจริงและมีดุลพินิจได้เอง

บรรหาร ชี้ปัญหาไม่บานปลาย


นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกับคุณหญิงจารุวรรณว่า คิดว่าไม่น่าจะบานปลาย และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คงจะไม่พูดแล้ว เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่ขณะนี้มาเป็น นักการเมือง พอพูดเข้าก็เข้าใจว่าท่านแก้แทน สมัยตน เป็น รมว.คลัง มีข้อกำหนดว่าห้ามนั่งเป็นบอร์ดเกิน 3 แห่ง แต่เข้าใจว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคงนั่งไม่เกิน หรือบางแห่ง ก็ไม่เข้าข่าย หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยตำแหน่งว่าต้องเป็น คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก ให้กำลังใจ ท่านในการเข้าไปแก้ไขปัญหาจะดีกว่า

อารีย์ ไล่ส่ง ผวจ.สมุทรปราการ

ส่วนควันหลงจากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยนั้น นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสุขุมรัฏฐ์ สาริบุตร ผวจ.สมุทรปราการ จะยื่นหนังสือลาออกเพราะไม่พอใจที่ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยว่า คนที่เป็นข้าราชการต้องไม่มีข้อแม้ เมื่อได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ไหนก็ต้องไป จะบอกว่าอยากอยู่ที่นั่นที่นี่ไม่ได้ ผวจ.ไม่ได้ตั้งอยู่กับผลประโยชน์ แต่มีหน้าที่ที่ต้องทำให้ดีที่สุด ยึดมั่นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เรื่องนี้คงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องขวัญและกำลังใจอะไร เมื่อถามว่าการโยกย้าย ผวจ.หลายคนที่มีความใกล้ชิดกับคนในรัฐบาลเก่า นายอารีย์ตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายต้องดูหลายเรื่อง ทั้งความสามารถ อาวุโส และต้องปรับเปลี่ยนกันได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ไหนก็อยู่ที่นั่นตลอด ต้องดูถึงความเหมาะสมด้วย เมื่อถามว่าจะยับยั้งใบลาออกของนายสุขุมรัฏฐ์หรือไม่ นายอารีย์กล่าวว่า แล้วแต่ใครอยากอยู่ก็อยู่ ใครอยากไปก็ไป

ปลัด มท.รับเหตุพิเศษกดดันโยกย้าย


นายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าขณะนี้อยู่ในสถานการณ์พิเศษ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ส่งผลกระทบกับการแต่งตั้งโยกย้ายของกระทรวงมหาดไทย เมื่อถามว่าแสดงว่าการโยกย้ายครั้งนี้เพื่อย้ายคนที่ไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลนี้ใช่หรือไม่ นายพงศ์โพยมตอบว่าเรื่องอุปสรรคในการทำงานเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การโยกย้ายครั้งนี้ถือเป็นการช่วย ผวจ.บางคนด้วยซ้ำ เพราะเดิมเคยทำตามนโยบายอย่างหนึ่งมาอย่างเข้มข้น เมื่อเปลี่ยนนโยบายก็เกรงว่าจะทำให้เกิดความลำบากใจ ยืนยันว่าใช้หลายเรื่องมาประกอบกัน ไม่ได้ดูว่าใครจบจากไหน แต่อาจเป็นเพราะผวจ.ส่วนใหญ่จบจากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อจิ้มไปตรงไหนเลยโดนตรงนั้น ส่วนกรณีนายสุขุมรัฏฐ์ ประกาศจะลาออกในวันที่ 1 ม.ค. อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ ทุกคนเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว คงตัดสินใจเองได้

สรุปตั้ง กมธ.สามัญ 29 คณะ

ที่รัฐสภา วันเดียวกัน ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมาธิการฯ แถลงว่า ได้พิจารณาเนื้อหาร่างระเบียบข้อบังคับการประชุมเสร็จสิ้นแล้วกว่า 90% ส่วนที่เหลือเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้ข้อสรุปแล้วว่าจะมีคณะกรรมาธิการสามัญทั้งสิ้น 26 คณะ ประกอบด้วย 1. การเกษตรและสหกรณ์ 2. การคมนาคม 3. การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน 4. การต่างประเทศ 5. การทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6. ความมั่นคง 7. การท่องเที่ยวและกีฬา 8. การเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 9. การปกครอง 10. การพลังงาน 11.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 12. การพาณิชย์ 13. การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน 14. การแรงงาน 15. การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 16. การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 17. การศึกษา 18. การสาธารณสุข 19. การอุตสาหกรรม 20. คุ้มครองผู้บริโภค 21. กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ 22. องค์กรอิสระ 23. การตรวจรายงานการประชุมและติดตามมติ 24. การบริหารงบ ประมาณ 25. ตำรวจ 26. การมีส่วนร่วมของประชาชน

สนช.แต่ละคนอยู่ได้แค่ชุดเดียว


นายประพันธ์กล่าวว่า สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญจะมี 3 คณะประกอบด้วย 1. การป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2. ปฏิรูปทางการเมือง 3. กิจการ สนช. ส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จำเป็นเร่งด่วนและอยู่ในสถานการณ์ เช่น การปราบปรามยาเสพติด การแก้ปัญหาภาคใต้ และปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ จะไม่รวมอยู่ในข้อบังคับ แต่จะให้ สนช.เสนอต่อที่ประชุม ทั้งนี้ สมาชิกแต่ละคนจะเป็นกรรมาธิการได้เพียง 1 คณะ แต่ สามารถเป็นกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมได้อีก 1 คณะ ซึ่งแต่ละคณะจะมีสมาชิกได้ 7-13 คนเท่านั้น

และประธานคณะกรรมาธิการต้องไม่มีส่วนได้เสียในกิจการของกรรมาธิการนั้น สำหรับวิธีสรรหาบุคคลเข้าเป็นกรรมาธิการนั้น จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่สรรหา โดยจะให้สมาชิกแจ้งความจำนงว่าสนใจอยู่ คณะไหน และให้เลือกสำรองได้อีกคนละ 1-2 คณะ หากคณะใดมีผู้ประสงค์เกินจำนวนที่กำหนดไว้ ให้ใช้วิธีจับสลาก อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯจะประชุมสรุปอีกครั้งในวันที่ 2 พ.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอให้ประธาน สนช.บรรจุเป็นวาระการประชุมได้ในสัปดาห์หน้า


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์