เว็บไซต์สำนักงานกฎหมายชื่อดัง robertamsterdam.com ของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
เจ้าของบริษัทกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ พีร็อฟฟ์ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าจ้างให้ทำหน้าที่แนะนำทางกฎหมายแก่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ "นปช." ออกแถลงการณ์ 3 ฉบับ ลงวันที่ 10 มิ.ย. จำนวน 2 ฉบับ และ 11 มิ.ย. อีก 1 ฉบับ มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทย
แถลงการณ์ฉบับแรก โจมตีหน่วยงานที่รัฐบาลไทยตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบกรณีผู้เสียชีวิตจากการขอพื้นที่คืนของรัฐตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.
ขาดความชอบธรรมและไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง พร้อมกับวิจารณ์รัฐบาลไทย นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า ลุแก่อำนาจ อันพิสูจน์ได้จากการตั้งข้อหาก่อการร้ายให้กลุ่มนปช. โดยปราศจากหลักฐานชัดเจน และควบคุมตัวผู้ประท้วงไว้อีกราว 400 คนอย่างผิดขั้นตอนโดยใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นข้ออ้าง และว่า หน่วยงานเดียวที่มีความชอบธรรมและเป็นอิสระอย่างแท้จริง คือ คณะกรรมการจากนานาชาติเท่านั้น
ขณะที่ฉบับที่สอง กล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายปฏิรูปประเทศสู่ความปรองดองของนายกรัฐมนตรีไทยว่า เป็นแค่เพียงลมปาก ขาดความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธานว่าเป็นการตรวจสอบเพียงข้างเดียว
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยนั้นจะดำเนินนโยบายปรองดองได้ยาก เพราะตอบคำถามขององค์กรสิทธิมนุษยชนไม่ได้
เช่น องค์การนิรโทษกรรมสากล และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ต่อสาเหตุของความล้มเหลวในการหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติช่วงวันที่ 13-19 พ.ค.
นายอัมสเตอร์ดัม ยังอ้างคำกล่าวของนักวิชาการหลายคนถึงทางออกของวิกฤตความขัดแย้งว่า จะต้องเริ่มจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการนานาชาติ ตามด้วยการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อคืนความชอบธรรมให้กับคณะรัฐบาลชุดใหม่
ส่วนแถลงการณ์ฉบับสุดท้าย นำเสนอบทความของนายชอว์น ดับเบิ้ลยู. คริสพิน บรรณาธิการข่าวเอเชียไทม์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บรรยายถึงสภาพการณ์ของประเทศไทยว่ากำลังถอยหลังเข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร พร้อมวิจารณ์ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ว่า กลายเป็นเสมือน "เงา" ของรัฐบาลไปแล้วท่ามกลางการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างไม่มีกำหนดสิ้นสุด และส่วนท้ายของบทความ กล่าวถึงการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และบรรดาทหารผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะยอมเสี่ยงกับผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า และเจอกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะขึ้นมาเปิดโปงกองทัพหรือไม่